เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุม 3 ครั้งติดต่อกัน และเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดนับตั้งแต่เฟดกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในปี 2533 โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.00-3.25% ในขณะนี้ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และแตะ 4.6% ในสิ้นปี 2566 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ซึ่งระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ และแตะระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566
ทั้งนี้ Dot Plot ยังระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 ซึ่งเป็นการดับความหวังของนักลงทุนที่ต้องการจะเห็นเฟดสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้
นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาจากการที่เฟดคาดการณ์ในการประชุมครั้งนี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 0.2% ในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัว 1.2% ในปี 2566
หุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย โดยหุ้นราล์ฟ ลอเรน ร่วงลง 2.02% หุ้นไนกี้ ดิ่งลง 2.47% หุ้นคาปรี โฮลดิ้งส์ ปรับตัวลง 1.12% โดยบริษัทคาปรีเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างไมเคิล คอร์ส และจิอันนี เวอร์ซาเช่
หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ร่วงลงเช่นกัน โดยหุ้นแอปเปิล ร่วงลง 2.03% หุ้นเมตา แพลทฟอร์มส์ ดิ่งลง 2.72% หุ้นแอมะซอน ร่วงลง 2.99% หุ้นไมโครซอฟท์ ลดลง 1.44% หุ้นอัลฟาเฟท ดิ่งลง 1.84%
หุ้นกลุ่มธุรกิจการเดินทางปรับตัวลงด้วย โดยหุ้นเอ็กซ์พีเดีย (Expedia) ซึ่งให้บริการแพลตฟอร์มด้านการเดินทางออนไลน์ ร่วงลง 5.37% หุ้นเดลต้า แอร์ไลน์ ร่วงลง 4.85% หุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ ดิ่งลง 5.3% หุ้นยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ร่วงลง 5.37% หุ้นคาร์นิวัล คอร์ป ร่วงลง 6.72% หุ้นรอยัล คาริบเบียน ครูส ดิ่งลง 5.44%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 0.4% สู่ระดับ 4.80 ล้านยูนิตในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2558 และเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
ทางด้านสมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองเพิ่มขึ้น 3.8% ในสัปดาห์ที่แล้ว แม้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองปรับตัวขึ้น ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 1% ในสัปดาห์ที่แล้ว