แม้ยอดคงค้างเงินกู้ยืมของครัวเรือนจะขยับขึ้นสู่ระดับ 14.76 ล้านล้านบาทในไตรมาส 2/2565 แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงตลอดในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะการชะลอตัวในส่วนของหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อก้อนใหญ่ เช่น หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้รถ
หากมองในเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปหนี้บ้านและหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ (สัดส่วนรวมกันประมาณ 53% ของหนี้ครัวเรือนในภาพรวม หรือประมาณ 46.5% ของจีดีพี) อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า หนี้รายย่อยก้อนใหญ่ หรือมีวงเงินกู้ต่อรายที่ค่อนข้างสูง เช่น หนี้บ้าน หนี้เพื่อประกอบอาชีพ และหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ล้วนมีอัตราการเติบโตที่ช้าลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งในด้านหนึ่งอาจสะท้อนว่า ครัวเรือนมีการเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า ครัวเรือนมีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูงและเริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่ เพราะฐานะทางการเงินมีสัญญาณอ่อนแอลง
ในทางกลับกัน ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีหนี้สินที่อยู่ในรูปบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน มากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ 8.2% ของหนี้ครัวเรือนรวมในไตรมาส 2/2565 (จาก 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 7.7% ในไตรมาส 4/2562 ที่เป็นช่วงก่อนโควิด) ซึ่งสะท้อนว่า มีครัวเรือนจำนวนมากกู้ยืมผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวเพื่อเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหาการเงินในระยะสั้นที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
• ภาระหนี้ของภาครัวเรือนอยู่สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้โดยเฉลี่ย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ จากผลสำรวจภาวะหนี้สินของภาคประชาชนในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ครัวเรือนเกือบทุกกลุ่มมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน โดยสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ของครัวเรือน/ประชาชนรายย่อยในผลสำรวจฯ อยู่ที่ระดับประมาณ 33.9% โดยเฉลี่ย ซึ่งอาจมีนัยว่า ครัวเรือนบางส่วนกำลังเริ่มมีข้อจำกัดหรือต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อให้สามารถก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ได้ โดยไม่เบียดบังในส่วนที่ควรเก็บสะสมเพื่อเป็นเงินออมในอนาคต
•สำหรับแนวโน้มในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับทบทวนประมาณการตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงมาที่กรอบ 85.0-87.0% (คาดการณ์เดิมที่ 86.5-88.5%) ชะลอลงเมื่อเทียบกับสัดส่วน 90.1% ต่อจีดีพีในปี 2564 เนื่องจากมูลค่าจีดีพี (Nominal GDP) เติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับครัวเรือนหลายๆ ส่วนระมัดระวังการก่อหนี้ก้อนใหม่
ทั้งนี้ แม้ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2565 นี้อาจจะชะลอลง แต่ก็มีเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในหลายประเด็น อาทิ การที่ครัวเรือนหลายส่วนพึ่งพาสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาเสริมสภาพคล่องระยะสั้น
และยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่ยังคงทยอยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะสะท้อนข้อจำกัดในการบริโภคของภาคเอกชนแล้ว ยังสะท้อนถึงความเปราะบางของฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนรายย่อยในยุคที่อัตราดอกเบี้ยของไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่จังหวะขาขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับผลของทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มทยอยปรับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะไม่มีผลกระทบกับสินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยอิงกับเพดานอัตราดอกเบี้ยตามที่ทางการกำหนด เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 8.3% ของหนี้ครัวเรือน
ขณะที่หากพิจารณาลักษณะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ จะเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ต่างก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ในขนาดที่น้อยกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และ
สำหรับในส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น หากขนาดการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่ใช้เป็นตัวอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงยังไม่เกิน 1% ก็น่าจะยังไม่กระทบต่อยอดภาระผ่อนต่อเดือนของผู้กู้สินเชื่อบ้าน อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ได้เข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นแล้ว และ
น่าจะมีการทยอยขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2566 ดังนั้น ประชาชนและครัวเรือนรายย่อยคงต้องเตรียมรับมือกับอัตราดอกเบี้ยที่จะขยับสูงขึ้น โดยเฉพาะสัญญาสินเชื่อใหม่ ทั้งในส่วนของสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อประกอบอาชีพ รวมถึงสินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีบ้านหรือรถเป็นหลักประกัน