การประกันภัยเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนทั่วไป เพราะสามารถช่วยป้องกันพวกเขาจากความสูญเสียที่ราคาสูงได้ ตัวอย่างเช่นประกันอัคคีภัยจะช่วยจ่ายชดเชยค่าเสียหายจากไฟไหม้บ้าน ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะเกิดไฟไหม้บ้านนั้นต่ำมากๆ แต่ถ้าเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้วมูลค่าความเสียหายจะสูงมากเกินยอมรับได้ ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเสียหายก้อนใหญ่นี้
ผู้ซื้อประกันมองว่า ขนาดความเสี่ยงจากอัคคีภัยนั้นสูงมาก แต่บริษัทประกันที่มีลูกค้ามากจะไม่กังวลกับความเสี่ยงนี้เลย เพราะบริษัทประกันสามารถรับความเสี่ยงจากลูกค้าหลายเจ้า แล้วนำมารวมกันเพื่อกระจายความเสี่ยงให้ “หาย” ไปได้ เช่น ถ้าบริษัทมี 1 ล้านกรมธรรม์ สมมุติให้แต่ละกรมธรรม์มีโอกาสที่จะเกิดไฟไหม้บ้านใน 1 ปีเท่ากับ 1 ในหมื่น หรือ 0.01% เมื่อมองในภาพรวมของบ้าน 1 ล้านหลัง จะพบว่าจำนวนบ้านที่ไฟไหม้จะใกล้เคียงกับ 100 หลังต่อปีเสมอ หรือเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย
นั่นเป็นเพราะกฏทางคณิตศาสตร์ที่ชื่อ “Law of Large Numbers” ที่กล่าวว่าเมื่อนำความเสี่ยงที่เป็นอิสระต่อกันจำนวนมากๆมารวมกัน ความเสี่ยงรวมของทั้งหมดจะหายไป เช่น กรณีเมื่อเราทอยลูกเต๋า 1 ลูก แต้มที่ออกจะมีค่าได้ตั้งแต่ 1 ถึง 6 (เสี่ยงมาก) แต่เมื่อทอย 3-4 พันลูก ผลรวมของแต้มหารด้วยจำนวนลูกที่ทอยจะเท่ากับหรือใกล้เคียง 3.5 เสมอ ความเสี่ยงจะหายไปเลย (ไม่เสี่ยง)
ความสวยงามของธุรกิจประกันภัย ก็คือ การที่บริษัทสามารถช่วยลูกค้าในการป้องกันความเสี่ยงที่สูงสำหรับลูกค้า โดยที่บริษัทเองแทบไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเลย เนื่องจากบริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงให้หายไปตามกฎ Law of Large Numbers นั่นเอง
ในปี 2563 บริษัทประกันจำนวนมากขายประกันโควิดแบบ เจอจ่ายจบ โดยมีเบี้ยประกันประมาณ 500 บาท ซึ่งถ้าติดโควิดใน 1 ปี ก็จะได้เงิน 100,000 บาท ประกันเจอจ่ายจบนี้เป็นที่นิยมมาก และในปีแรกบริษัทประกันทำกำไรมากจากการขายประกันชนิดนี้ เพราะประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อโควิดที่ต่ำมาก เนื่องจากรัฐบาลดำเนินนโยบายเข้มงวดและป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่เข้าประเทศ แต่ในปีที่ 2 และปีที่ 3 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้บริษัทประกันหลายบริษัทต้องล้มละลายเนื่องจากมีจำนวนเคลมที่สูงมากจนไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมได้
ในปี 2563 โอกาสติดเชื้อโควิดของประชากรไทยอยู่ที่ 0.01% (มีผู้ติดเชื้อ 7,000 คน จากประชากรไทย 70 ล้านคน) ดังนั้น สมมุติว่า ถ้าบริษัทประกันมีกรมธรรม์เจอจ่ายจบ 1 ล้านกรมธรรม์ บริษัทจะได้รับเงินค่าเบี้ยประกันรวม 500 ล้านบาท ในขณะที่ใน 1 ล้านกรมธรรม์นั้นจะมีผู้ติดเชื้อเท่ากับ 0.01% ของ 1 ล้าน หรือซึ่งก็คือ 100 คน ดังนั้น บริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมรวม 10 ล้านบาท ซึ่งในปีแรกนี้บริษัทกำไรดีมาก เพราะได้รับเบี้ยประกัน 500 ล้านบาท แต่จ่ายค่าสินไหมเพียงแค่ 10 ล้านบาท
นั่นเป็นเพราะอัตราการติดเชื้อของคนไทยในปีนั้นต่ำมากๆ แค่ 0.01% ในขณะที่ในปีเดียวกันอัตราการติดเชื้อของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 9% ซึ่งสูงกว่าไทย 900 เท่า นั่นเป็นเพราะอเมริกาไม่ได้มีนโยบายควบคุมที่เข้มข้นเหมือนเมืองไทย ซึ่งถ้าเมืองไทยมีอัตราการติดเชื้อเท่ากับ 9% เหมือนอเมริกา ผู้ทำประกัน 1 ล้านคน จะติดเชื้อสูงถึง 90,000 คน ทำให้บริษัทจะต้องจ่ายค่าสินไหม 9,000 ล้านบาท จากเบี้ยประกันที่ได้รับแค่ 500 ล้านบาท นั่นหมายถึงบริษัทจะล้มละลายในทันที
จะเห็นว่าบริษัทประกัน เจอจ่ายจบ จะกำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับค่าอัตราการติดเชื้อของคนในประเทศเป็นหลักสำคัญ โดยมีจุดคุ้มทุนที่ 0.5% ถ้าอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า 0.5% บริษัทจะกำไร แต่ถ้าสูงกว่า 0.5% บริษัทจะขาดทุน
จากข้อมูลประเทศที่ดำเนินนโยบายผ่อนคลายและเปิดเมืองอัตราการติดเชื้อจะเกิน 0.5% ดังนั้นความเสี่ยงหลักของประกันโควิดแบบ เจอจ่ายจบ ก็คือความเสี่ยงจากนโยบายจากภาครัฐว่า จะเข้มงวดล็อกดาวน์หรือไม่นั่นเอง ถ้ารัฐบาลยังเข้มงวดอัตราการติดเชื้อก็จะต่ำมาก บริษัทประกันก็จะทำกำไรเหมือนปี 2563 แต่ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนมาใช้นโยบายผ่อนคลายเปิดประเทศเหมือนชาติตะวันตก อัตราการติดเชื้อก็จะสูงมากระดับที่บริษัทประกันขาดทุนแบบล้มละลาย
จะเห็นว่าการประกันโควิดแบบ เจอจ่ายจบ นี้แตกต่างจากการประกันอัคคีภัยอย่างสิ้นเชิง เพราะในการประกันอัคคีภัยความเสี่ยงของการเกิดไฟไหม้ของแต่ละบ้านเป็นอิสระต่อกัน จึงสามารถนำมากระจายความเสี่ยงให้หายไปได้ตามกฎ Law of Large Numbers
แต่ในกรณีประกันโควิด ความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิดของแต่ละคนไม่เป็นอิสระต่อกัน เพราะโอกาสในการติดเชื้อของทุกคน ขึ้นอยู่กับนโยบายการล็อกดาวน์ของรัฐบาล เราไม่ได้มีหลายรัฐบาล เรามีแค่รัฐบาลเดียว จึงไม่สามารถนำมากระจายความเสี่ยงให้หายไปตามกฎ Law of Large Numbers ได้
ดังนั้นการออกประกันแบบ เจอ จ่าย จบ นี้จึงไม่ใช่การกระจายความเสี่ยง แต่เป็นการแทงเดิมพัน (หรือ แทงพนัน) โดยเดิมพันว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายปิดเมืองหรือเปิดเมืองนั่นเอง ถ้าปิดเมืองต่อไปบริษัทก็จะกำไร แต่ถ้าเปิดเมืองเมื่อไร บริษัทก็จะขาดทุนแบบล้มละลายทันที
จากบทเรียนนี้ทำให้รู้ว่า บริษัทประกันไม่ควรออกผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดิมพันหรือการพนันนี้ เพราะมันไม่สามารถกระจายความเสี่ยงให้หายไปได้ บริษัทประกันควรเน้นออกผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงที่สามารถกระจายความเสี่ยงให้หายไปได้ เหมือนอย่างกรณีประกันอัคคีภัย เป็นต้น