นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสผู้บริหารฝ่าย Investment Men market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า 11เดือนแรกของปี2565 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 8%
ถ้าเทียบกับเงินสกุลอื่นในเอเชียด้วยกัน ปีนี้ถือว่าเงินบาทยังดีกว่าสกุลเงินอื่น โดยมีเพียง 2 สกุลเงินที่อ่อนค่าต่อดอลล่าร์น้อยกว่าเงินบาท คือ ฮ่องกงดอลลาร์และสิงคโปร์ดอลลาร์ สะท้อนว่าเงินบาทไม่ได้ดูแย่มากในภูมิภาค
และถ้าเทียบกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์( DXYX หรือค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ เงินบาทปีนี้อ่อนค่า 8% ขณะที่ DXY แข็งค่าต่อทุกสกุล 12% เทียบกับปี 2564 ที่เงินบาทอ่อนค่าต่อดอลล่าร์สหรัฐ 11% ขณะที่ DXY แข็งค่า 6% มองเชิงเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์บแบบนี้ โดยปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว
สำหรับค่าเงินดอลล่าร์ มีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อสหรัฐอาจจะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว และตลาดถือว่างานของธนาคารกลางสหรัฐ( Fed) ใกล้บรรลุ แม้วันนี้ถือว่างานของ Fed ยังไม่จบ แต่เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ทำให้ตลาดการเงินโลกที่ตึงมาตลอดหลายไตรมาสคลี่คลายลง กลับสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทอ่อนค่าดอลล่าร์สหรัฐ 2 ปีรวมกันราว 20% ก็ถือว่าอ่อนค่ามาก แต่ยังไม่ใกล้เคียงกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งช่วงนั้น ค่าเงินบาทอ่อนต่อดอลล่าร์ 80% ภายใน 6 เดือนแรกหลังลอยตัวค่าเงินบาท
ไม่รวมปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแรง สถาบันการเงิน งลดุลและการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทเอกชนที่มีหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศ ทำให้เราไม่ได้อยู่ใกล้เคียงสถานการณ์แบบในปี 2540-2541
ย้ำส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ชี้ขาดทิศทางค่าเงินในระยะยาว
ต่อข้อถามส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างไรนั้นนายสงวนกล่าวว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย อาจจะเป็นปัจจัยระยะสั้นที่กดดันค่าเงินบาท แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดทิศทางค่าเงินในระยะยาว
จากข้อมูลของเว็บไซต์แบงก์ชาติ 9 เดือนแรกของปี ต่างชาติถือครองพันธบัตรลดลง 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับขนาดตลาดพันธบัตร โดยล่าสุด ตลาดพันธบัตรมีสัดส่วนที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติ 9.4% ซึ่งในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนดังกล่าวอยู่ในช่วง 8-12% ดังนั้น สัดส่วนการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติถือไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างผิดปกติ
สำหรับจุดยืนธปท.ที่สื่อสารมาโดยตลอดว่าจะทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น ตลาดยังให้ความเชื่อมั่น ซึ่งถือว่าดีกว่าเมื่อ 4-5 เดือนก่อน ที่มีคำถามในตลาดว่า วิธีการของแบงก์ชาตินั้น behind the curve อาจจะต้องมีการประชุมฉุกเฉิน หรือการขึ้นดอกเบี้ยแรง เพื่อยับยั้งการอ่อนค่าของเงินบาท แต่เมื่อเข้าสู่ปลายปี ข้อสงสัยเหล่านี้ถือว่าหายไปมากแล้ว เพราะการขึ้นดอกเบี้ยช้าก็ดูจะไม่ได้ส่งผลร้ายต่อเสถียรภาพอย่างที่กังวลกัน
“ แม้ว่าแบงก์จะอั้นการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ แต่ก็ไม่ถือว่าการส่งผ่านไม่ทำงาน เพราะถ้าพิจารณาหลายๆเดือนรวมกัน แบงก์ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ยอยู่ดี การส่งผ่านจึงถือว่าทำงานตามปกติเพียงแต่จังหวะการขยับไม่ได้ตรงตามผลการประชุม กนง.”
ดังนั้น ที่เหลือจึงขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)กำหนดแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3ของปีนี้ในวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ถ้าตัวเลขจีดีพีออกมาดีกว่าคาดที่ 4.4% ตลาดย่อมจะมีสิทธิ์คิดว่าดอกเบี้ยนโยบายยังปรับขึ้นต่อเนื่องไม่สะดุด ขณะที่จะเป็นปัจจัยบวกกับค่าเงินบาท
ประเมินแบงก์อั้นขึ้นดอกเบี้ยเดือนพ.ย.ไปเดือนม.ค.ปีหน้า
นายสงวน ตอบข้อถามในประเด็นแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยระบุว่า รอบการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในปลายเดือนพ.ย.นี้ มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารพาณิชย์จะอั้นไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย คล้ายกับในช่วงเดือนสิงหาคมที่ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเลย
สาเหตุเนื่องมาจาก เดือนมกราคม2566 หรือเพียง 1 เดือนถัดจากการประชุมกนง. ธนาคารพาณิชย์ในระบบจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 40bp แน่นอนแล้ว ตามอัตราค่าธรรมเนียมกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน( FIDF) ที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ระดับ 46bp. ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 40bp. ถือว่าแรง
แม้ธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่อยากซ้ำเติมลูกหนี้ และเลือกที่จะชะลอหรือเลือกการขึ้นดอกเบี้ยอันเกิดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤศจิกายนนี้ออกไปก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากรอบการดำเนินนโยบายโดยภาพรวมแล้ว ถือว่า transmission หรือการส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ย ยังคงทำงานตามปกติ