แบงก์ชาติเผยผลดำเนินงานระบบแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 3/65 มีรายได้ดอกเบี้ยกว่า 1.46แสนล้านบาทหนุนกำไรโต 56.8% กว่า 6 หมื่นล้านบาท หลังค่าใช้จ่ายกันสำรองลดเหลือ 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะเดือนสิงหาคม 2565 ลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า เหตุลูกหนี้จากแบงก์รัฐเข้ามาสู่มาตรการเพิ่มขึ้นเป็น 1.05 ล้านล้านบาท จาก 9.8 แสนล้านบาท
นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.หรือแบงก์ชาติ)เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสที่ 3/2565 พบว่าธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิจำนวน 6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 56.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ โดยมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 1.46 แสนล้านบาท ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลงมาอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการระบาดของโควิด-19
หากเทียบกับไตรมาส 2/2565 พบว่ากำไรสุทธิปรับลดลงจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดลงจากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาลในไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.64% จากไตรมาสก่อนที่ 2.51% ทั้งนี้ ภาพรวมอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.01% จากไตรมาสก่อนที่ 1.11%
ทั้งนี้ หากมองแนวโน้มกำไรสุทธิในระยะข้างหน้า มองว่า จะขึ้นอยู่กับพอร์ตธุรกิจของแต่ละธนาคารเป็นหลัก และแนวโน้มการเติบโตสินเชื่อ เพราะหากดูการเติบโตสินเชื่อเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2562 พบว่าสินเชื่อมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3% และ
ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 5-6% ด้วยฐานสินเชื่อที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น แต่การปรับเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับพอร์ตสินเชื่อและสัดส่วนการพึ่งพาอัตราดอกเบี้ยประเภทไหนเป็นหลัก
ส่วนภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 5.3% ชะลอลงจาก 6.3% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการชำระคืนของสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ ประกอบกับการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยสินเชื่อยังขยายตัวสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับสินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่ 6.1% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ขยายตัวตามความต้องการเงินทุนเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี หดตัว 1.4% เนื่องจากสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan ) ที่ทยอยชำระคืนเป็นสำคัญจำนวน 6 หมื่นล้านบาท
ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 3.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 7.7% ตามการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 2.6% ตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งแนวราบและแนวสูง ส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยที่จะสิ้นสุดในปี 2565
ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 1.6% ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 10.9% ต่อเนื่อง สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายที่ขยายตัว ภายหลังจากการล็อกดาวน์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 19.2% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 8.9 แสนล้านบาท โดยอัตราส่วน เงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 171.6% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 186.5%
ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสนับสนุนความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ในระยะถัดไป นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพสินเชื่อและให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2565 ลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือทางการเงินอยู่ที่ 2.98 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะลูกหนี้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เข้ามาสู่มาตรการเพิ่มขึ้นเป็น 1.05 ล้านล้านบาท จาก 9.8 แสนล้านบาท มีจำนวนบัญชีลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการ 3.88 ล้านบัญชีเพิ่มขึ้นจาก 3.84 ล้านบัญชี