บสย.ชูธงช่วยธุรกิจ-SMEสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

25 พ.ย. 2565 | 23:45 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2565 | 10:28 น.

บสย.สนองนโยบายรัฐบาล “แก้หนี้ยั่งยืน” ผ่านมาตรการ 3สี"ม่วง เหลือง เขียว"คาดสิ้นปี65ช่วยลูกหนี้ได้กว่า7,000รายจากยอดลงทะเบียน9,809รายเดินหน้าช่วยธุรกิจสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

นายสิทธิกร   ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  เปิดเผยว่า  ผลดำเนินงาน บสย. ในช่วง 10 เดือน ระหว่าง 1 ม.ค. – 31 ต.ค. 2565  ประสบผลสำเร็จ ให้ความช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อต่อเนื่อง อนุมัติค้ำประกัน จำนวน 128,581 ล้านบาทจำนวน 78,510 ราย 

 

อนุมัติหนังสือค้ำประกัน (LG) 82,461 ฉบับ  ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 140,958 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 893,073 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 531,039 ล้านบาท

บสย.ชูธงช่วยธุรกิจ-SMEสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

สำหรับ โครงการค้ำประกันสินเชื่อรองรับ ได้แก่
 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs (PGS 9) วงเงิน 65,985 ล้านบาท สัดส่วน 51%
(เฉลี่ย 3.93 ล้านบาทต่อ LG) วงเงินคงเหลือรองรับ 1,100 ล้านบาท และสิ้นสุดโครงการ 30 พ.ย. 2565


2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.ฟื้นฟู ระยะ 2 (สินเชื่อเพื่อการปรับตัว) วงเงิน 48,076 ล้านบาท สัดส่วน 37% (เฉลี่ย 3.50 ล้านบาทต่อ LG  )
3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Commercial และ Re-new วงเงิน 9,202 ล้านบาท สัดส่วน 7%
4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. Micro ต้องชนะ (Micro 4) สัดส่วน 4% วงเงิน 4,473 ล้านบาท (เฉลี่ย 90,000 บาท ต่อ LG)
5.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra วงเงิน 845 ล้านบาท สัดส่วน 1%

บสย.ชูธงช่วยธุรกิจ-SMEสร้างเศรษฐกิจสีเขียว

กลุ่มธุรกิจที่ บสย. ค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ครองสัดส่วนค้ำประกัน 50% ของยอดค้ำรวม ได้แก่ภาคบริการ 28% ภาคเกษตรกรรม 11% ภาคการผลิตสินค้าและการค้า 11%  โดยในภาคการเกษตรมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น ไต่ระดับจากอันดับ 6 ในปี 2563 สู่อันดับ 2 ในปี 2565 คาดว่า ผลดำเนินงานสิ้นปี 2565 จะมียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อรวมกว่า 140,000 ล้านบาท”

 

ด้านการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. ได้ดำเนินการสอดรับนโยบายรัฐบาล ปีแห่งการแก้หนี้  “แก้หนี้ยั่งยืน” ช่วยลูกหนี้หลุดพ้นกับดักหนี้ แก้ไขหนี้ ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” ผ่อนน้อย เบาแรง หรือ มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ช่วยแก้หนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประสบความสำเร็จเกินคาด เพิ่มขึ้นกว่า 80%  มีลูกหนี้ บสย. ลงทะเบียน จำนวน 9,809  ราย ได้รับการประนอมหนี้ 4,785 ราย สัดส่วน 49% หรือราว 2,058 ล้านบาท คาดว่า       ณ สิ้นปี จะช่วยลูกหนี้ได้กว่า 7,000 ราย

 

“มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว แก้หนี้ ลูกค้า บสย. เป็นมาตรการที่โดดเด่นในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้กลุ่มไมโคร โดยมาตรการ “สีเขียว” ได้รับความนิยมมากที่สุด 79%   ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาผ่อนนาน 7 ปี ตัดเงินต้นทั้งจำนวน โดยชำระครั้งแรกเพียง 10%  วงเงินหนี้ ต่อราย 100,000 บาท “

 

ด้านการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเป็นบริการให้คำปรึกษาฟรี โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F.A. Center) เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม มีผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา ขอสินเชื่อสูงสุด 1,454 ราย ปรึกษาปรับโครงสร้างหนี้ มากกว่า 515 ราย และพัฒนาธุรกิจ 337 ราย รวมสินเชื่อที่ต้องการกว่า 12,000 ล้านบาท

 

ขณะที่การเข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 (4-6 พ.ย.) กรุงเทพฯ และ ครั้งที่ 2 (18-20 พ.ย.) จังหวัดขอนแก่น  มีผู้ประกอบการขอรับคำปรึกษาแก้หนี้ที่บูธ บสย. จำนวน 945 ราย ประกอบด้วย  ขอสินเชื่อธุรกิจ 164 ราย แก้ไขหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 119 ราย และปรึกษาธุรกิจ 18 ราย และสอบถามและรับบริการทั่วไป 644 ราย 

ด้านการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ได้เปิดตัว 2 นวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่ 

 

 1.ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน หรือ Bilateral 7 (BI 7) วงเงิน 11,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปที่ต้องการสินเชื่อแต่ขาดหลักประกัน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันระหว่าง 2-3.25% ตามระดับความเสี่ยง ภายใต้คอนซ็ปท์ การพัฒนาร่วมเฉพาะรายสถาบัน 

 

2.ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ RBP (Risk Based Pricing Product) คิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของ SMEs โดยนำเครื่องมือ Credit Scoring มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการนำร่อง (Sandbox) เพื่อให้บริการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs กลุ่ม Supply Chain 

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 บสย. มีแผนเปิดตัวนวัตกรรมค้ำประกันสินเชื่อรองรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model (Bio Economy – Circular Economy -Green Economy)  เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่นำแนวคิดมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และนำกลับมาใช้ประโยชน์ สร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อลดผลกระทบต่อโลก มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

 

การดำเนินยุทธศาสตร์  Digital Transformation & Financial Gateway ที่ได้ประกาศไว้เมื่อต้นปี 2565 บสย. มีความคืบหน้าเป็นลำดับ อาทิ การนำดิจิทัลเทคโนโลยี มาร่วมพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการ ได้แก่ การพัฒนาช่องทางการบริการบนออนไลน์ ผ่าน Line TCG First  พร้อมเมนูต่างๆ ให้เลือก เช่น บริการตรวจสุขภาพทางการเงิน บริการให้คำปรึกษาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และแก้หนี้  โดยลูกค้า บสย. สามารถลงทะเบียนมาตรการแก้หนี้ บสย. ผ่าน Line TCG First  กับ บสย. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ทั้งนี้ ยังได้พัฒนาระบบการให้บริการลูกค้าผ่าน Digital Platform ร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อด้วย คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 มีจำนวนสมาชิก Line TCG First  กว่า 20,000 ราย 

 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ บสย. ปี 2566 ตามแผนวิสาหกิจ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.Credit Accelerator : การขยายปริมาณการค้ำประกันสินเชื่อ โดยสามารรถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น  2.SMEs Growth Companion การพัฒนาองค์ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs และรายย่อย 3.Digital Transformation & Financial Gateway : นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาพัฒนาการดำเนินงานและการให้บริการ 4.Debt Management : การเพิ่มบทบาทการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการหนี้ให้มีประสิทธิภาพ 5.Sustainable Organization : สร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องตามมาตรฐานสากล และ 6.ยุทธศาสตร์สนับสนุน ที่สนับสนุนทุกสายงานเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย