เปิดผลประชุมกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

14 ธ.ค. 2565 | 04:12 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 11:28 น.

ธปท. จับตา 3ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ “ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก- ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว-การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจและราคาพลังงาน”

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 6/2565 วันที่ 25 และ 30 พฤศจิกายน 2565  กรรมการที่เข้าร่วมประชุมนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางรุ่ง มัลลิกะมาส    นายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์ 

 

+ภาวะเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.9 2.5 และ 3.1 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยขยายตัวชะลอลงในปี 2566 ตามอุปสงค์โลกที่ถูกกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในหลายประเทศ

 

ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด (Zero-COVID) และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและอุปสงค์ในประเทศจีน

 

รวมทั้งกระทบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชียที่มีความเชื่อมโยงกับจีนสูง สำหรับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้เพิ่มขึ้น เมื่อแรงกดดันต่อการบริโภคจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงทยอยปรับลดลงและภาวะการเงินตึงตัวน้อยลง

+ตลาดการเงินโลกผันผวน

ตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้น สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง รวมถึงเริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับเข้าลงทุนสินทรัพย์กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่

 

+อัตราผลตอบแทน-ดอกเบี้ยขาขึ้น

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับนโยบายการเงินของไทย แต่ภาวะการเงินโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ยังขยายตัว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวปรับลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน หลังตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจีนอาจผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย

 

มองไปข้างหน้า ตลาดการเงินยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวทางการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ของจีน

 

+ภาวะเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวร้อยละ 3.2 3.7 และ 3.9 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ จาก 2ปัจจัย ได้แก่

 

(1) ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัชัดเจน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่มากขึ้น ข้อจำกัดด้านเที่ยวบินที่เริ่มคลี่คลาย และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ

 

คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 10.5 และ 22 ล้านคนในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคนเทียบประมาณการครั้งก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 31.5 ล้านคนในปี 2567 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย ขณะที่ประมาณการนักท่องเที่ยวจีนให้ไว้ค่อนข้างต่ำในปี 2566 เนื่องจากนโยบายการเปิดประเทศของจีนยังมีความไม่แน่นอนสูง และ

 

(2) การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคบริการ และตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นสะท้อนจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ที่ปรับลดลงต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดแล้ว ส่งผลให้รายได้แรงงานปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น

 

ในขณะเดียวกัน แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น ยานยนต์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุตสาหกรรม แต่สินค้าบางกลุ่มยังขยายตัวได้เช่น สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร ในภาพรวม

ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงยังใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม

 

+เงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบสิ้นปี2566

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 6.3 3.0 และ 2.1 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับโดยผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และจะโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี 2566

 

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบประมาณการครั้งก่อน จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยจะทยอยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 2.5 และ 2.0 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ

 

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนตุลาคม 2565 เริ่มทรงตัว ราคาสินค้าส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือปรับลดลง ตามการส่งผ่านราคาจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีจาก

 

 (1) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง และ

 

 (2) สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานเริ่มคลี่คลาย โดยผู้ที่ไม่ได้ทำงานในช่วงก่อนหน้าและแรงงานต่างด้าวเริ่มทยอยกลับเข้ามาทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานมีสัญญาณชะลอลง ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

 

+จับตา 3ปัจจัยในระยะข้างหน้า

ในระยะข้างหน้า ยังต้องติดตามความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่

 (1) แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด

(2) ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ

(3) การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน

 

+ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย

• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีความเสี่ยงชะลอตัวรุนแรงกว่าคาด จากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังยืดเยื้อ และการดำเนินมาตรการ Zero-COVID ซึ่งกระทบภาคการผลิตและการขนส่งบางส่วน

 

รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในจีน จึงต้องติดตามแนวทางการดำเนินมาตรการ Zero-COVID ของจีนในระยะต่อไป และประสิทธิผลของมาตรการในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาเพิ่มเติม เพื่อประเมินผลต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทยในระยะข้างหน้า

 

• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามคาด และต้องติดตามแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ได้แก่

(1)การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเปิดประเทศของจีนที่มีความไม่แน่นอนสูงอาจกระทบประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายปี 2566 และปี 2567

 

อย่างไรก็ดี กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสกลับมามากและเร็วกว่าคาดได้จากความต้องการท่องเที่ยวที่สะสมจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียที่พึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศสูง

 

และได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่ำ รวมถึงข้อจำกัดด้านเที่ยวบินที่ทยอยคลี่คลายและนโยบายการเปิดประเทศของจีนที่อาจเร็วกว่าคาด

 

(2) ความต่อเนื่องของแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนแม้การบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามปัจจัยที่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนของแต่ละกลุ่มผู้มีรายได้ในระยะต่อไป

 

อาทิพฤติกรรมการบริโภคที่อาจเปลี่ยนแปลงไป   แรงส่งจาก pent-up demand ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงและรายได้ปานกลาง รวมถึงการฟื้นตัวของการบริโภคของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มีภาระหนี้ในระดับที่สูง และอ่อนไหวต่อค่าครองชีพมากกว่า

 

• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากการปรับราคาพลังงานในประเทศในระยะต่อไป

 

โดยอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่การปรับขึ้นค่าไฟฟ้ายังมีความไม่แน่นอน และผลต่อเงินเฟ้อจะขึ้นอยู่กับมาตรการภาครัฐในการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างใกล้ชิด

 

+ห่วงรายได้ยังไม่ฟื้นตัวกดดันความเปราะบางเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือน

 

• คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจสร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว จึงเห็นว่าควรผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ฐานะทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มยังเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19 และรายได้ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

 

อีกทั้งต้องเผชิญกับค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น ส่งผลซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งเป็นสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (non-banks)

 

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและรอบด้าน เพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

 

+การดำเนินนโยบายการเงิน

คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีจากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี  คณะกรรมการฯ เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ด้านอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ตามที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

 

+ระบบการเงินแกร่ง หนุนปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน

ด้านระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังมีภาคธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น จึงเห็นว่าการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปที่พร้อมปรับตามแนวโน้มและความเสี่ยงเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลง (gradual and measured policynormalization) ยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม และเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปีในการประชุมครั้งนี้

 

คณะกรรมการฯ เห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน สำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น จึงเห็นควรให้ดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง

 

+ภาวะตลาดเงินยังเอื้อต่อการระดมทุน

คณะกรรมการฯ เห็นว่าภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

 

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป