Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา นับเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกของการเงินดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสะดวกกับผู้ใช้บริการ และลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับสถาบันการเงินตามมา
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ นั่นคือ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank พร้อมกำหนดกรอบหลักเกณฑ์การขอจัดตั้งและกำกับดูแลเอาไว้อย่างชัดเจน
เราไปทำความรู้จักกันว่า โลกการเงินยุคใหม่และเทคโนโลยี Virtual Bank คืออะไร มีความเหมือนหรือแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่มีบริการ Mobile โทรศัพท์มือถือ หรือ Internet Banking อย่างไร
Virtual Bank คืออะไร
Virtual Bank คือ ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีสาขาเหมือนในปัจจุบันที่เรามักเห็นอยู่ทั่วไป โดยจะเน้นการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก
ส่วน Mobile หรือ Internet Banking ถือเป็นหนึ่งในช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมเท่านั้น
การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีข้อมูลที่หลากหลาย และบริการดิจิทัล เข้ามานำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนพนักงาน อาคารและสถานที่ ขณะที่ผู้ใช้บริการรายย่อย และผู้ประกอบการ SMEs ยังสามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินอย่างเหมาะสมได้ด้วย
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Virtual Bank เป็นใคร
Virtual Bank สามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการที่ดีเพียงพอ (underserved) หรือยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (unserved) ให้มีโอกาสเข้าถึงหรือได้รับบริการทางการเงินที่ดีขึ้น เช่น
ตัวอย่างกลุ่ม unserved และ underserved สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ แบ่งเป็น
1. ด้านสินเชื่อ คือ กลุ่มคนที่ไม่ได้สินเชื่อจากธนาคาร หรือได้สินเชื่อไม่พอ ต้องไปกู้จากนอกระบบ เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีรายได้ประจำที่ไม่มีข้อมูลหรือประวัติทางการเงินมากพอ เมื่อมี Virtual Bank แล้วจะสามารถใช้ข้อมูลทางเลือกและเทคโนโลยีใหม่ ในการประเมินความเสี่ยงและพิจารณาให้สินเชื่อแก่คนกลุ่มนี้ได้
2. ด้านการออม คือ กลุ่มคนเพิ่งเริ่มมีรายได้ (first jobber) หรือคนมีรายได้น้อย ยังไม่มีทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีสำหรับการออมเงินจำนวนน้อย ๆ เมื่อมี Virtual Bank แล้วจะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จูงใจให้คนออมจำนวนน้อย ๆ เป็นรายสัปดาห์ โดยจะยิ่งได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเมื่อออมนานขึ้นได้
หลักเกณฑ์การขอจัดตั้ง Virtual Bank
ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล มีความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลายทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือก เช่น พฤติกรรมการใช้จ่ายมาใช้ประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า สามารถนำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ กับลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างครบวงจรและเหมาะสม
Virtual Bank ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน โดย ธปท. จะกำกับ Virtual Bank ตามระดับความเสี่ยงและให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยง
อย่างไรก็ตามในช่วงแรก Virtual Bank ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินกิจการในช่วงแรกเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ