การวางรากฐานการเงินดิจิทัลเป็น 1 ใน 4 เรื่องหลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วางโครงสร้างพื้นฐานให้ภาคการเงินพร้อมรับกระแสดิจิทัลและสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในระยะต่อไป
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินดิจิทัลจะต่อยอดการชำระเงินระหว่างประเทศหรือ Cross-border payment ขยายการเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ มากขึ้น เช่น QR payment จะเชื่อมกับอินเดียในไตรมาส 1 ปี 2566 ตามมาด้วยฮ่องกงในไตรมาส 4 ปีเดียวกัน ส่วนกลางปีจะเชื่อม PrompPay กับมาเลเซีย
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป้าหมายปี 2566 ธปท.จะเน้นเรื่องการเชื่อมโยงการชำระเงินและโอนเงินต่างประเทศและเดินหน้าเรื่องการชำระเงินภาคธุรกิจ (PromptBIZ) ส่วนบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นเรื่องปกติที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว
ทั้งนี้หลังจากไทยมีบริการ PromptPay ได้ต่อยอดไปต่างประเทศ โดยเป็นการเชื่อม QR Code บนระบบพร้อมเพย์ที่ใช้กับแอปพลิเคชั่นของธนาคารเพื่อสแกน QR Code ของร้านค้าเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการในต่างประเทศ ซึ่งเริ่มจากสปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่นอกอาเซียน
นอกจากนี้ธปท.ยังเชื่อม PromptPay-PayNow ของสิงคโปร์บริการโอนเงินให้ผู้รับปลายทางผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งเป็นคู่แรกของโลกและประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงทั้งชำระเงินและโอนเงินแบบเรียลไทม์ ปัจจุบันมียอดธุรกรรมการใช้งานทั้งขาเข้าและขาออกรวมกัน 5.05 แสนรายการ มูลค่า 3,800 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดให้บริการเดือนเมษายน 2564
“ประมาณไตรมาส 3 หรือกลางปี 2566 มาเลเซียจะเป็นประเทศถัดไปที่จะเชื่อมระบบลักษณะเดียวกับ PromptPay-PayNow หลังจากนั้นอาจจะเป็นเวียดนาม ส่วนอินโดนีเซียยังมีความซับซ้อน โดยมีบริษัทกลางที่ให้บริการชำระเงินและโอนเงินถึง 4 บริษัทเพราะเป็นเมืองเกาะ” นางสาวสิริธิดา กล่าว
ขณะที่บริการ QR Code ที่เริ่มเปิดบริการกับสปป.ลาวเป็นประเทศแรกนั้น เป็นลักษณะการชำระเงินที่ไม่ได้เชื่อมระบบผ่านบริษัทกลาง แต่ภายหลังได้จัดตั้งบริษัทกลางแล้วชื่อ “LAPNet” โดยย่อมาจาก Lao National Payment Network
ทั้งนี้ในทางปฎิบัติต่อไป อาจจะให้ทางสปป.ลาวชะลอบริการ QR Code เดิมเพื่อปรับมาเชื่อมบริษัทกลาง เพราะการมีบริษัทกลางจะสามารถกระจายภายในประเทศ เพราะทุกคนจะเข้ามาอยู่ในบริษัทกลางจะทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งหลายประเทศที่ไม่มีบริษัทกลางระยะหลังได้ตั้งบริษัทกลางขึ้นมาแล้ว
“การเชื่อมระบบผ่านบริษัทกลาง “PromptPay-PAYNOW” ใช้เวลาแค่ 8 เดือน เร็วมาก ส่วนระยะเวลาการเชื่อมระบบกับประเทศอื่นขึ้นกับความพร้อมและความแตกต่างทั้งระบบนิเวศ, กฎระเบียบแต่ละประเทศรวมถึงพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้แปลว่า ทุกประเทศจะใช้เวลาเท่ากัน และอยู่ระหว่างเจรจาเชื่อมระบบกับบริษัทกลางอีก 2 ประเทศคือ ฮ่องกงและอินเดีย”
สำหรับเรื่องเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ Wholesale CBDC ที่ทำกับฮ่องกง จีน ยูเออี และมีแนวคิดจะขยายประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมเพิ่มในปี 2566 ขณะเดียวจะเริ่มนำมาใช้จริงในโครงการ mBridge ส่วน Retail CBDC เพื่อรายย่อยนั้นอาจจะทดสอบต้นปี 2566 ขยับจากเดิมที่วางแผนจะทดสอบสิ้นปี 2565 เพราะต้องการให้มั่นใจว่า กระบวนการใช้งานจะเป็นอย่างไร โดยจะทดสอบเฉพาะธนาคารหลักที่ให้บริการ ถ้านำมาใช้จะมีกระบวนการอย่างไรในเรื่องความปลอดภัย
ส่วนธุรกรรมกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือ P2P Lending นั้น อาจจะไม่หวือหวา สำคัญที่สุดคือ “ข้อมูลกับเครดิตโมเดล” ในการใช้ประเมินคุณภาพลูกค้าทำให้ผู้ให้บริการใช้เวลา โดยอยู่ระหว่างพูดคุยโมเดล 7 ราย แต่ไม่ได้แปลว่าทั้ง 7 รายจะเข้ามาทดสอบ ขณะที่ผู้ขออนุญาตที่กำลังทดสอบ 2 ราย ได้รับอนุญาตออกไปแล้ว 1 ราย ซึ่งหลักการ P2P ต้องมีข้อมูลของลูกค้าเพียงพอ ที่จะทำให้ผู้ให้กู้ประเมินและตัดสินใจว่า จะให้กู้ลูกค้ารายไหน เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้
ขณะที่ภาพรวมของระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) มีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลตอบรับ PromptPay ในปีที่ 5 เติบโตก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีที่เกิดสถานการณ์โควิด19 ปัจจุบันมีการใช้งาน 44 ล้านรายการต่อเดือนและยอดลงทะเบียน 72 ล้านเลขหมาย
ส่วนตัวเลขการใช้งานขึ้นไปอยู่ที่ 402 รายการต่อคนต่อปี (ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565) ซึ่งเกินจากเป้าหมายไปมากจากช่วงเปิดใช้งานพร้อมเพย์เดือนมกราคม 2561 มีการใช้งานอยู่ที่หลักพันรายการต่อเดือน ดังนั้นในอีก 3 ปีข้างหน้าอยากจะเห็นการเติบโตอีก 1 เท่า
“เท่ากับเรากำลังเทียบกับประเทศชั้นที่มีการใช้ e-payment ค่อนข้างมากเช่น สวีเดน สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ อย่างสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 600 ครั้งต่อคนต่อปี ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ ขณะที่คนไทยมียอดใช้ Mobile Bank ติดอันดับ1 ของโลกและการใช้งาน e-payment ของไทยอยู่ในอันดับ 4ของโลก เพราะช่วยเพิ่มความสะดวกกับประชาชนในการโอนเงินชำระเงิน”นางสาวสิริธิดากล่าว