ทิศทางอัตราดอกเบี้ย “ขาขึ้น” หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการผ่อนปรนให้ลดเงินนำส่งสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)จากอัตราปกติที่ 0.46%เหลือ 0.23%ซึ่งสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566
จึงเห็นธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทยอยปรับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เมื่อต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะทุกธนาคารมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น ในอัตรา0.40%ต่อปี
ล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 25ม.ค.คณะกรรมการฯมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตรา 0.25% จากระดับ 1.25% เป็นอัตรา 1.50% ซึ่งมีผลทันทีในวันดังกล่าว
ถัดมาในวันที่ 27ม.ค. ธนาคารกรุงเทพประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ โดยอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate:MLR) 6.45%ต่อปี ,อัตราดอกเบี้ยที่ ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate:MOR) 6.90%ต่อปี และ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) 6.80%ต่อปี โดยให้มีผลเมื่อวันที่ 27ม.ค.2566)
ตามมาด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศจะปรับMLRเป็น6.35% MOR 6.895%และMRRเป็น 6.62%ต่อปีจากปัจจุบันอยู่ที่ 6.52%โดยกำหนดจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 31ม.ค.2566 ) ที่เหลืออยู่ระหว่างการทยอยประกาศอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ทั้ง 10ธนาคาร พบว่า ทุกธนาคารได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตระกูล M ทั้งหมด
โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) พบว่า ธนาคารกรุงไทยอยู่ที่ 6.77%ต่อปี ธนาคารกสิกรไทย 6.50%ต่อปี ธนาคารทหารไทยธนชาตหรือทีทีบี อยู่ที่ 7.08%ต่อปี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ 6.65%ต่อปี ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 7.30%ต่อปี ธนาคารทิสโก้ 7.35%ต่อปี ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 8.35%ต่อปี และธนาคารแลนแอนด์เฮ้าส์(LHFG) 8.15%ต่อปี
ทั้งนี้เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate:MLR) 6.8393%ต่อปี ,อัตราดอกเบี้ยที่ ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate:MOR) 7.2302%ต่อปี และ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) 7.2913%ต่อปี