เปิดทาง SME – Startup เสนอขาย “ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน”

16 มี.ค. 2566 | 10:03 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2566 | 10:12 น.

ก.ล.ต. วางแนวทางปรับหลักเกณฑ์ เปิดทาง SME – Startup เสนอขาย “ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน” พร้อมรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องถึง 17 เมษายน 2566

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขประกาศที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการออกและเสนอขาย ตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน ผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) และการเสนอขายในวงจำกัด 

เพื่อเป็นการการเปิดโอกาสการระดมทุนให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านความยั่งยืน พร้อมยกระดับบทบาทของตลาดทุนที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่กิจการ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีนโยบายและได้ส่งเสริมการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบไปด้วย

  • ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond)
  • ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond)
  • ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond)
  • ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) 

โดยปี 2561 – กุมภาพันธ์ 2566 การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5.42 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566) ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีสัดส่วนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด และผู้ออกตราสารยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่และเฉพาะบางกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น

ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนต่อบุคคลในวงจำกัด (PP-10) และการเสนอขายผ่านระบบคราวด์ฟันดิง รวมถึงขยายเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพสำหรับบริษัทจำกัด (PP-SME) ให้รองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้กิจการทุกขนาด รวมทั้ง SME และ Startup สามารถระดมทุนผ่านตราสารหนี้ดังกล่าวได้ 

นอกจากนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์จะรวมถึงการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ทั่วไป ในส่วนที่เกี่ยวกับด้านความยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน ตลอดจนเพิ่มความน่าเชื่อถือในการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว คลิกที่นี่

ซึ่งผู้เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ จนถึงวันที่ 17 เมษายน 2566