ดร.สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ภาวะการเงินของไทยโดยรวมยังคงผ่อนคลาย แต่จะมีการตึงตัวบ้างตามนโยบายการเงินผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากดูการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารพาณิชย์ในช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง ที่ผ่านมา (ไม่รวมครั้งที่ 5เดือนมี.ค.66)
ซึ่งการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) 68% สูงกว่า 56%ของค่าเฉลี่ยในอดีตปี 2563-2564 แต่การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) มีสัดส่วนการส่งผ่าน 44% ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์พยายามส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยMRRน้อยกว่าอดีตเพื่อช่วยประคับประคองลูกหนี้กลุ่มรายย่อยซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของธปท.
ส่วนต้นทุนการกู้ยืมภาคธุรกิจ พบว่า ต้นทุนธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นทั้งจากการกู้ยืมผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ และระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ แต่ระดับไม่ได้สูงนักเมื่อเทียบกับในอดีต โดยต้นทุนระดมทุนยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนทั้งหมด เห็นได้จากสินเชื่อที่ขยายตัว 4-5%
แม้จะช่วงหลังสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจโลกผ่านภาคการผลิต ที่ได้รับสินเชื่อน้อยลง แต่ธุรกิจภาคบริการ เอสเอ็มอียังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่องเช่นเดียวกับการค้าที่ยังคงได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
“การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่องมีส่วนช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด ที่สำคัญช่วยลดความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงนาน”