ผลการตรวจสอบเส้นทางเงินคดีทุจริตใน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พบความผิดปกติของเส้นทางการเงินของบริษัทกว่า 10,000 ล้านบาท ที่โอนเข้ากลุ่มบริษัทเพื่อไปชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัว
จนนำไปสู่การมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อพนักงานอัยการ
จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของฐานเศรษฐกิจ ตามผังเส้นทางเงินที่ดีเอสไอ นำมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้ยักย้ายถ่ายเทเงินของ STARK ที่ได้จากการขายหุ้นกู้ 3 รอบ และขายหุ้นเพิ่มทุน 1 รอบวงเงินรวม 16,215.4 ล้านบาท ดังนี้
1. เงินจากการขายหุ้นกู้ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 วงเงิน 2,221 ล้านบาท หลัง STARK ได้เงินแล้วก็แตกบัญชีโอนต่อไปยัง 3 บริษัท ดังนี้(ดูกราฟิก เส้นทางเงินหุ้นกู้ STARK 2 ก.ย. 2564 วงเงิน 2,221 ล้านบาท ประกอบ)
2. เงินจากการขายหุ้นกู้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 จำนวน 4,483.1 ล้านบาท จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าถูกโอนไป 6 บัญชี ดังนี้ (ดูกราฟิก เส้นทางเงินหุ้นกู้ STARK 12 พ.ค. 2565 วงเงิน 4,483 ล้านบาท ประกอบ)
3. เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนวันที่ 7 ตุลาคม 2565 จำนวน 5,580 ล้านบาท จากการตรวจสอบเส้นทางเงินพบว่ามีการนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนโอนเข้าบริษัทในเครือ 2,500 ล้านบาท โอนบาทแนทต่างธนาคาร 3,078.28 ล้านบาท จ่ายภาษีสรรพากร 19.368 ล้านบาท โอนให้กลุ่มนิติบุคคล 18.713 ล้านบาท รอตรวจสอบอีก 63.224 ล้านบาท (ดูเส้นทางเงิน STARK ขายหุ้นเพิ่มทุน 5,580 ล้านบาท ประกอบ)
4. เงินจากการขายหุ้นกู้ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จำนวน 3,931.3 ล้านบาท หลังจาก stark ได้เงินแล้วก็มีการโอนเงินให้บริษัทในเครือ 3 บริษัท ดังนี้(ดูเส้นทางเงินหุ้นกู้ 3.9 พันล้าน STARK ฟันอดีตประธาน-CFO หญิงปริศนา ประกอบ)
จากการตรวจสอบเส้นทางเงินพบว่าเงินจากการขายหุ้นกู้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ส่วนใหญ่ถูกผ่องถ่ายผ่านบริษัท A อีกทั้งยังพบว่า นอกจากเงินที่รับโอนจากการออกหุ้นกู้จำนวน 3,280 ล้านบาทแล้ว ยังมีเงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้วันที่ 7 ต.ค. 2565 จำนวน 5,579.99 ล้านบาท ที่ STARK โอนให้กับบริษัทลูกแห่งหนึ่ง 2,500 ล้านบาท ถูกโอนเข้ามาในบัญชีบริษัทนี้ 2,300 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีเงินจากบริษัทในเครือ ธุรกรรมจากต่างประเทศ นิติบุคคล/บุคคล โอนเข้ามาอีก 12,160.97 ล้านบาท รวมเงินที่ถูกโอนเข้ามาบริษัท A จำนวน 17,740.97 ล้านบาท
จากนั้นบริษัท A ได้โอนเงินต่อให้กับบริษัทในเครือ 4 บริษัท วงเงินรวม 16,035.162 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการโอนให้กับบริษัทลูกแห่งหนึ่ง 10,297.031 ล้านบาท ก่อนที่จะโอนต่อเข้าไปเข้าบัญชี "ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ" อดีต CFO และกรรมการบริษัท STARK และบริษัทย่อย จำนวน 741.172 ล้านบาท
เมื่อ "ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ" ได้รับเงินแล้วก็โอนต่อไปยังบัญชีตนเอง 2 บัญชี คือ บัญชีธนาคารกสิกรไทยจำกัด(มหาชน) 491.172 ล้านบาท และบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ 250 ล้านบาท
สำหรับเงินที่ถูกโอนไปบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) จำนวน 491.172 ล้านบาท ถูกถ่ายเทออกไป ด้วยการถอนเป็นเงินสด สาขาถนนสาทร 70 ล้านบาท อีก 100 ล้านบาทโอนให้กับหญิงปริศนารายหนึ่ง จากนั้นหญิงรายนี้ก็ถอนเป็นเงินสด 40 ล้านบาท และโอนให้กับนาย "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตประธานกรรมการ STARK จำนวน 6,485,000 บาท
ขณะที่นายชนินทร์โอนกลับเข้าบัญชีหญิงปริศนา 111.993 ล้านบาท จากนั้นถูกโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ 20 ล้านบาท
ส่วนเงินที่ถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ 250 ล้านบาท ของ "ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ" ถูกแตกย่อยออกไปหลายบัญชี และมีเงินจากบัญชีที่โอนมาจากธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชีนายศรัทธา โอนเข้ามารวมอีก 321.172 ล้านบาท ตามกราฟิก โดยมีข้อสังเกตคือมีการโอนเงินเข้าบัญชีผู้หญิงปริศนาอีกรายกว่า 76.63 ล้านบาท
ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือมีเงินก้อนหนึ่งถูกโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์อีกแห่ง 262.242 ล้านบาท ซึ่งบัญชีนี้จะมีเงินจากที่ต่างๆโอนเข้า-ออกจำนวนมาก อีกทั้งยังโอนเข้าบัญชีชายปริศนา 6.847 ล้านบาท ถูกถอนเงินสด 62.04 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีกลุ่มผู้ต้องหาและพยาน 3.396 ล้านบาท และโอนเข้าบริษัทแห่งแหนึ่ง 186.172 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์บัญชีนี้ไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์อีกบัญชี 161 ล้านบาท ก่อนโอนต่อไปยังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์อีก 6 บัญชีรวม 112 ล้านบาทและถอนเป็นเงินสด 2 ล้านบาท
ความผิดปกติของเส้นทางเงินดังกล่าว นอกจากดีเอสไอจะดำเนินคดีอาญากับกลุ่มผู้ต้องหา 11 รายเล้ว ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน( ปปง.) ก็จะพิจารณาดำเนินการติดตามยึดทรัพย์สิน เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 49 วรรคท้าย ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย ได้แก่ 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 2.นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 3.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 4.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 5.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น 6.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 7.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 8.บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 9.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 10.นางสาวยสบวร อำมฤต และ 11.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (อยู่ระหว่างหลบหนี)