กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) สรุปการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2566
ในการติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยของ IMF (Article IV Consultation) ประจำปี 2566 โดยรวม IMF มีมุมมองที่สอดคล้องกับทางการไทยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว แม้จะชะลอลงบ้าง จากการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 2.5 และคาดว่าในปี 2567 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 (กรณีรวมผลมาตรการ Digital Wallet) จากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป IMF คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.7 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.
นอกจากนี้ IMF ยังเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม และควรติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ
ขณะเดียวกัน IMF สนับสนุนแผนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)สำหรับภาคการเงิน ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ผ่านการออกเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt)
นอกจากนี้ IMF แนะนำให้ทางการไทยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดทอนผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (geo-economic fragmentation) รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) โดยเฉพาะการเพิ่มพูนทักษะแรงงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและปรับกฎเกณฑ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ