ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 27มิ.ย. “อ่อนค่า” ที่ระดับ 36.96 บาทต่อดอลลาร์

27 มิ.ย. 2567 | 00:43 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 03:08 น.

ค่าเงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าแถวโซนแนวต้าน 37บาท/ดอลลาร์ หากเงินเยนไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุระดับ 161 เยนต่อดอลลาร์จะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นได้

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 27มิ.ย. 2567 ที่ระดับ  36.96 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.82 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทจนทะลุโซนแนวต้าน 36.85 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากกว่าที่เราประเมินไว้) จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไป แถว 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอแถวโซนแนวต้านดังกล่าวได้ หากเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนทะลุระดับ 161 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งจะยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ยังคงต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังแรงขายสินทรัพย์ไทยก็เริ่มชะลอลงได้จริงตามที่เราประเมินไว้ และหากบรรยากาศในตลาดการเงินไม่ได้อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องและอาจเริ่มเห็นการกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง

นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพราะหากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับได้ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

โดยอาจต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ว่าจะออกมาแย่กว่าคาด หรือสะท้อนภาพการชะลอลงต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้หรือไม่

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.85-37.10 บาท/ดอลลาร์

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.81-36.97 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก

โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) โดยหลังจากที่เงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าทะลุระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ ก็อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนเกือบแตะระดับ 161 เยนต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับระยะสั้นแถว 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในตลาดก็กระจุกอยู่ในหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon +3.9%, Apple +2.0%

โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และการดีเบตรอบแรกระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.16%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.56% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยลดความเสี่ยงก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศส สะท้อนจากการปรับตัวลงของดัชนี CAC40 ของฝรั่งเศสราว -0.69% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะ Tech. Services อย่าง SAP +2.4%

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.34% หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มทยอยปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่จะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในวันศุกร์

นอกจากนี้ ในช่วงนี้ก็มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจมีการขายบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดังกล่าวก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายของเรา

ซึ่งเราคงคำแนะนำเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง”

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนเข้าใกล้ระดับ 161 เยนต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD บ้าง หลังเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวขึ้นใกล้จุดสูงสุดในรอบ 1 เดือน ซึ่งแรงขายทำกำไรดังกล่าวก็พอช่วยชะลอโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.8-106.1 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กลับสู่โซนแนวรับแถว 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะดังกล่าวในการทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

 สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ (Jobless Claims) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งเรามองว่า หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงต่อเนื่องและอาจไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เฟดประเมินไว้ ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ เฟดสามารถเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB และ BOE

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า
เงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 36.93-36.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.57 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่  36.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ

ท่ามกลางแรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งอ่อนค่าผ่านแนว 160 เยนต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา และเงินหยวน  หลังจากที่ทางการจีนประกาศอัตราอ้างอิงเงินหยวนที่ระดับอ่อนค่าต่อเนื่อง 7 วันทำการติดต่อกัน
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นตามการคาดการณ์ของตลาดที่ประเมินว่าเฟดไม่น่าจะรีบลดดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 36.85-37.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินเอเชีย และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ค.