ก.ล.ต. จ่อเฮียริ่ง การเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ยกระดับบจ.สู่มาตรฐานสากล

30 ก.ค. 2567 | 09:27 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2567 | 09:27 น.

"พรอนงค์ บุษราตระกูล" แย้มอยู่ระหว่างการศึกษา การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย สอดรับกับมาตรฐาน ISSB หวังยกระดับไปสู่มาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น

นายพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรื่องของ ESG หรือ ความยั่งยืน เป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับการส่งเสริมและถูกพูดถึงในระดับสากลและระดับประเทศ ที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รวมถึงประชาชนทั่วไปต่างตระหนักว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปแล้ว

โดย ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมความพร้อมของบริษัทจดทะเบียนในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้สอดรับกับมาตรฐาน International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งนำไปสู่การยกระดับไปสู่มาตรฐานสากล และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น รวมถึงทำให้ผู้ลงทุนเปรียบเทียบเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนได้มากขึ้น

แนวทางการดำเนินการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISSB จะพิจารณาจากศักยภาพและความพร้อมในการเปิดเผยข้อมูล โดยจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของไทยให้สอดคล้องกับสากลได้อย่างเหมาะสม ที่จะมีการเปิดรับฟังความเห็นเร็วๆ นี้ 

ส่วนการนำไปใช้นั้น ขั้นตอนที่จะนำไปใช้แบ่งออกเป็นลำดับและสัดส่วน โดยจะพิจารณาจากพัฒนาการของแต่ละอุตสาหกรรม รวมถึงความพร้อมหรือขนาดธุรกิจ เพื่อกำหนดขอบเขตการบังคับใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศ อาทิ การพิจารณาเริ่มจากบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพก่อน ต่อมาถึงขยายไปที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กตามลำดับไป

นอกจากนี้ จะมีแผนการพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องและขยายเวลาการเปิดเผยข้อมูลบางส่วน เพื่อให้บริษัทมีระยะเวลาเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะที่จำเป็น เพื่อบรรเทาและมีช่วงเวลาผ่อนปรนการเปิดเผยข้อมูลบางประเด็นที่ธุรกิจอาจยังไม่พร้อม

ในด้านการใช้งานร่วมกัน เพื่อให้ข้อมูลด้านความยั่งยืนมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ตามแนวทางมาตรฐานสากล ที่บริษัทจดทะเบียนเลือกใช้ โดย GRI และ IFRS ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงการรายงานความยั่งยืนของกันและกัน ให้สามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย

รวมถึง GRI และ EFRAG ให้สามารถทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนามาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่มีความสอดคล้องกัน โดยก.ล.ต.ยึดหลักสำคัญในการใช้งานร่วมกันได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่าการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนมีความน่าเชื่อถือ สามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้ เพื่อเป็นข้อมูลตลอดจนยกระดับการเปิดเผยข้อมูลทัดเทียมสากล ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะสื่อสารเรื่องแผนงานและการยกระดับ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับบริษัทจดทะเบียนและผู้เกี่ยวข้องต่อไป 

อีกประเด็นที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล คือ การจัดให้มีการรับรองการรายงานข้อมูลความยั่งยืน sustainability reporting assurance ซึ่งหลักการเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการรายงานข้อมูลความยั่งยืนจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeHolder) ช่วยลดการการเกิด ฟอกเขียวธุรกิจ หรือ Green Washing

ซึ่ง IOSCO ที่ ก.ล.ต. เป็นสมาชิกได้สนับสนุนให้มีการจัดทำ sustainability reporting assurance และสนับสนุนให้ International Auditing and Assurance Standards Board (IAASB) พัฒนามาตรฐานใหม่ที่ครอบคลุมการรับรองการรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน โดยคาดว่ามาตรฐานนี้จะเผยแพร่ภายในปี 2567 นี้ 

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างติดตามพัฒนาการมาตรฐานดังกล่าว และศึกษาแนวทาง sustainability reporting assurance ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งจะนำมาตรฐาน ISSB มาปรับใช้เช่นเดียวกัน เพื่อเป็นข้อมูลการวางกรอบ Assurance ของตลาดทุนไทยควบคู่การยกระดับการเปิดเผยข้อมูลต่อไป