ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 30ธ.ค. 2567 ที่ระดับ 34.03 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจพอได้ลุ้นทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways โดยต้องจับตาทิศทางเงินดอลลาร์ ราคาทองคำ
รวมถึงเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลดัชนี PMI ของจีน อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ทว่าฝั่งบอนด์อาจยังเห็นการขายทำกำไรเพิ่มเติม
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาแข็งแกร่งหรือดีกว่าคาดชัดเจน ทว่าควรจับตาการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งอาจยังช่วยหนุนเงินดอลลาร์ได้ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อ พร้อมกดดันเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เพิ่มเติม
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.85-34.30 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.15 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.93-34.12 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เข้าใกล้โซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ
ทว่า การแข็งค่าดังกล่าวของเงินบาทก็อยู่ได้ไม่นาน หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือโซน 4.60% ซึ่งการปรับตัวขึ้นดังกล่าวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY)
พลิกกลับมาอ่อนค่าลงใกล้โซน 158 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ก็มีส่วนกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง รวมถึงกดดันให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นบ้างของราคาทองคำ ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็ซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะในส่วนหุ้นไทย
สำหรับในสัปดาห์ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และจีน อย่างรายงานดัชนี PMI ในเดือนธันวาคม อนึ่ง ในช่วงสิ้นปี-ต้นปี ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดอาจเบาบางลง ทำให้ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – สัปดาห์นี้อาจมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่มากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอลุ้น
รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนธันวาคม ซึ่งอาจยังคงสะท้อนภาวะการหดตัว (ดัชนี ต่ำกว่า ระดับ 50 จุด) ต่อเนื่องของภาคการผลิตในสหรัฐฯ ได้
ทว่าผู้เล่นในตลาดอาจไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก แม้ว่าภาคการผลิตจะหดตัว เนื่องจากภาคการบริการยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่น้อยกว่า 70% ทำให้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่จะรับรู้ในสัปดาห์ถัดไป อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้มากกว่ารายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตพอสมควร
▪ฝั่งยุโรป – แม้ว่าสัปดาห์นี้จะแทบไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์การเมืองของฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงร้อนแรงอยู่ แม้ว่าจะเป็นช่วง Christmas และช่วงปลายปีก็ตาม
▪ฝั่งเอเชีย – ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน ในเดือนธันวาคม (Official Manufacturing and Services PMIs) รวมถึง ดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิต ที่จะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง เป็นหลัก โดยผู้เล่นในตลาดจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
▪ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ในเดือนธันวาคม สำหรับแนวโน้มเงินบาทนั้น เรามองว่า หากในช่วงระยะสั้น เงินดอลลาร์สามารถทยอยอ่อนค่าลงได้บ้าง
ในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาแข็งแกร่งหรือดีกว่าคาดชัดเจน ทำให้เมื่อประเมินร่วมกับปัจจัยเชิงเทคนิคัล ตามกลยุทธ์ Trend-Following เราจึงขอคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้
หรืออย่างน้อยแกว่งตัว Sideways ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงทะลุโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน (โซนแนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์)
พร้อมย้ำจุดยืนเดิมว่า “Good Bye 35” และอาจเห็นเงินบาททยอยแข็งค่าต่ำกว่าโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในช่วงก่อนที่รัฐบาล Trump 2.0 จะเริ่มทำงาน ตามที่ได้เขียนไว้ในบทวิเคราะห์เงินบาทเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในปี 2025 ที่จะถึงนั้น ตลาดการเงินเสี่ยงเผชิญความผันผวนสูง จากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อันจะสร้างความไม่แน่นอนต่อการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก
โดยเฉพาะ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด เราจึงขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.95-33.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.42 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 34.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ แม้เงินบาทยังคงแกว่งตัวเป็นกรอบ แต่ก็แข็งค่าผ่านแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาอีกครั้งท่ามกลางปริมาณการทำธุรกรรมที่เบาบางในช่วงก่อนวันหยุดสิ้นปี ประกอบกับน่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ (จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะกลาง-ระยะยาวของสหรัฐฯ) ชะลอลงบางส่วน เนื่องจากตลาดกลับมารอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.90-34.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่
สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก ตัวเลขยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์