เงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (14 ส.ค. 67) ไปแตะระดับ 34.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 67 ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.96-34.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ (11.50 น.) กรอบเงินบาทระยะสั้นประเมินไว้ที่ 34.50-35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ทั้งเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย หลังจากที่ข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทำให้ตลาดพุ่งความสนใจกลับมาที่โอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจจะมากกว่า 25 basis points ในการประชุม FOMC เดือนก.ย. (US PPI +2.2% YoY ในเดือนก.ค. น้อยกว่าตลาดคาดที่ +2.3% YoY และ +2.7% YoY ในเดือนมิ.ย. ส่วน US Core PPI +2.4% YoY ในเดือนก.ค. ต่ำกว่าตลาดคาดที่ +2.7% YoY และ +3.0% YoY ในเดือนมิ.ย.) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกเมื่อคืนที่ผ่านมา ก็เป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงแข็งค่ากลับมาเล็กน้อยตามจังหวะสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และตลาดกลับมารอติดตามประเด็นทางการเมืองในประเทศในวันนี้ และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในคืนนี้
อนึ่ง เงินบาทที่แข็งค่ากลับมาในระยะนี้ ทำให้เงินบาทสามารถลดช่วงอ่อนค่าที่ทำไว้ตั้งแต่ต้นปี 2567 ได้มาก โดยระดับ Spot ของเงินบาทที่ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ (11.50 น. วันที่ 4 ส.ค. 2567) อ่อนค่าลงประมาณ 2.4% เมื่อเทียบกับระดับสิ้นปี 2566 นับเป็นอัตราการอ่อนค่าเป็นอันดับ 6 เมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ