ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 9ต.ค. “อ่อนค่าเล็กน้อย”ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์

09 ต.ค. 2567 | 01:28 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ต.ค. 2567 | 02:18 น.

ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าค่อยเป็นค่อยไป ยังโซนแนวต้านใหม่แถว 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากผู้เล่นในตลาดและผู้ส่งออกทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 9ต.ค. 2567 ที่ระดับ  33.55 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”  จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.49 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า แม้โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

โดยเงินบาทยังคงติดโซนแนวต้านใหม่แถว 33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาด (รวมถึงการทยอยขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออก) อีกทั้ง ราคาทองคำก็ยังมีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเรายังคงเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน ความผันผวนของตลาดการเงินจีน หลังล่าสุดผู้เล่นในตลาดก็เริ่มผิดหวังต่อรายละเอียดใหม่ๆ ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ทำให้เงินหยวนจีน (CNY) เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ซึ่งอาจกดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์อย่างชัดเจน จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงวันพฤหัสฯ นี้ได้ ทำให้โดยรวม เงินบาทก็อาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 33.40-33.65 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน

เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลง  (กรอบการเคลื่อนไหว 33.40-33.61 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้โซน 4.05%

หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายนได้ (โอกาสราว 14% จาก CME FedWatch Tool) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

รวมถึงการปรับสถานะถือครองสินค้าโภคภัณฑ์ของผู้เล่นในตลาดหลังราคาน้ำมันดิบก็ดิ่งลงแรง ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงเกือบ -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ยังคงถูกจำกัดอยู่แถวโซนแนวต้านใหม่ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าวบ้าง อีกทั้งราคาทองคำก็ทยอยรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดเดินหน้าซื้อบรรดาหุ้นเทคฯ อาทิ Nvidia +4.1% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการเข้าซื้อก่อนรับรู้ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มดังกล่าว ที่ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการเติบโตที่ดีของผลประกอบการอยู่

ขณะที่การปรับตัวลดลงหนักของราคาน้ำมันดิบ หลังผู้เล่นในตลาดผิดหวังกับรายละเอียดใหม่ๆ ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ได้กดดันให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลง อาทิ Exxon Mobil -2.7% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.97%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.55% กดดันโดยแรงขายหุ้นธีม China Recovery ทั้งหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม กลุ่มเหมืองแร่ และกลุ่มพลังงาน อย่าง LVMH -3.6%, Rio Tinto -4.8%, Shell -2.4%

หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังว่า ทางการจีน (NDRC) ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ทั้ง SAP +2.4%, ASML +0.6%

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบ sideways แถวโซน 4.00% โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.05% ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อย ตามแรงซื้อ “Buy on Dip’ ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน

ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ หากผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดทั้งในปีนี้ และปีหน้า เช่น เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ซึ่งอาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

โดยเฉพาะในส่วนของข้อมูลตลาดแรงงาน ที่ออกมาสดใส/ดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่ได้ชะลอลงชัดเจนนัก นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อได้

หากสุดท้าย สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น จนส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลาง ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นเกินระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอยู่ในระดับสูงดังกล่าวได้เป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ เฟดมีความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อและอาจชะลอแผนการลดดอกเบี้ยได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มกังวลว่าเฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงความต้องการถือเงินดอลลาร์จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์/ปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.3-102.7 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการปรับสถานะถือครองสินค้าโภคภัณฑ์ของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.)

ปรับตัวลงหนักสู่โซน 2,620- 2,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์ขึ้นบ้างสู่ระดับ 2,640 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามความต้องการถือทองคำ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ นี้  เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายนได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า RBNZ มีโอกาสลดดอกเบี้ย –50bps สู่ระดับ 4.75% หลังอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอลงต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันภาพรวมเศรษฐกิจก็ชะลอลงพอสมควร ส่วน RBI อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 6.50% แต่ก็อาจเริ่มมีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ตามแนวโน้มการชะลอลงของทั้งเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ  

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตอบโต้อิหร่านของทางการอิสราเอล ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดและจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันจากตะวันออกกลางหรือไม่ 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.44-33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.14 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ในช่วงเช้านี้ ขณะที่ แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน เนื่องจากตลาดกลับมารอติดตามบันทึกการประชุมเฟด และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ (CPI inflation) ของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยออกมาในคืนนี้ และวันพรุ่งนี้ ตามลำดับ เพื่อประเมินแนวโน้มและจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในระยะข้างหน้า 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.42-33.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. รวมถึงสัญญาณจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด