วันจันทร์ ที่ 11 พฤศจิกายน 2567 จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ครบวาระ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเลื่อนประชุมมาแล้ว 1 ครั้ง
โดยเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์ร่วมลงชื่อมากกว่า 227 รายชื่อ รวมทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 4 คนร่วมลงชื่อในแถลงการณ์นี้ด้วย
รายการ "เข้าเรื่อง" เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ ได้สนทนากับ รศ.ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ และแกนนำกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องอำนาจของบอร์ดแบงก์ชาติ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ดร.เจิมศักดิ์ ยืนยันถึงอำนาจของบอร์ดแบงก์ชาติว่า มีอํานาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการสินทรัพย์และทุนสำรองเงินตรา ,แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ย เช่นเดียวกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้ยังสามารถให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หากมีความผิด หรือขาดความสามารถตามที่กฎหมายกำหนด
ด้วยอำนาจเช่นนี้จึงนำมาสู่ความกังวลว่า ถ้าปธ.บอร์ดแบงก์ชาติและกรรมการแบงก์ชาติอีก 2 คน มีความเชื่อมโยงกับคนของกลุ่มการเมืองย่อมจะมีโอกาสในการที่จะไปครอบงําหรือแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อาจทำให้วัตถุประสงค์ของแบงก์ชาติเปลี่ยนไป
ธนาคารกลางของทุกประเทศย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพระยะยาวไม่ใช่ดูระยะสั้น ถ้าการเมืองสั่งให้ขึ้นดอกเบี้ยได้ สั่งให้ลงได้ แล้วมีคนรู้ล่วงหน้า อาจจะมีการหาประโยชน์กัน นั่นย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ดร.เจิมศักดิ์กล่าวถึงการออกแถลงการณ์คัดค้านครั้งนี้ว่า ไม่ใช่เพราะชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง หรือนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
แต่ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามที่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง และมองเห็นเคยให้สัมภาษณ์เคยแสดงพฤติกรรมที่ส่อว่ามีเจตคติที่จะแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ไม่สมควรทั้งสิ้น เพราะหากการเมืองแทรกแซง ธปท.ได้ ย่อมมีคนได้ประโยชน์จากการดำเนินนโยบายทางการเงิน และอาจเกิดการล็อบบี้รัฐบาลขึ้นมาได้