ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้19พ.ย. “แข็งค่าขึ้นมาก” ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์

19 พ.ย. 2567 | 01:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2567 | 02:38 น.

ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้นจากแรงหนุนจากสถานการณ์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็เริ่มชะลอลง วันนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางยุโรป และเฟด

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้19พ.ย. 2567 ที่ระดับ  34.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มอ่อนกำลังลงมากขึ้น

สอดคล้องกับ Call Short-term USDTHB peak ของเราเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในช่วงนี้

เรามองว่า ราคาทองคำอาจได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทว่า ราคาทองคำก็อาจเผชิญแรงกดดันได้ หากผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า

เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot พอสมควร ซึ่งจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้

อนึ่ง แม้ว่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ทว่าการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด ตราบใดที่บรรดานักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าทยอยขายสินทรัพย์ไทย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อาจยังพอได้แรงหนุน ในกรณีที่บรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะ BOE ยังส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยต่อได้ ซึ่งอาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลง

ทั้งนี้ หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นทะลุโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสสูงที่จะกลับตัวเข้าสู่แนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ หากประเมินจากกลยุทธ์ Trend Following

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.53-34.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่โซน 2,610-2,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาทวีความร้อนแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะหลังล่าสุด ทางการสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ยูเครนสามารถใช้ระบบอาวุธ ATACMS (MGM-140 Army Tactical Missile System) โจมตีเป้าหมายในดินแดนรัสเซีย เฉพาะในพื้นที่ Kursk Oblast เท่านั้น (ติดชายแดนทางเหนือของยูเครน ไม่ห่างจากเมืองหลวง Kyiv และเมืองสำคัญอย่าง Kharkiv) ซึ่งการอนุมัติดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ

ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า สถานการณ์สงครามเสี่ยงบานปลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียได้ นอกจากนี้ ความกังวลดังกล่าวยังได้สะท้อนผ่าน การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานเช่นกัน

นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงแถวโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น

รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบด้วยเช่นกัน หลังราคาน้ำมันดิบเริ่มกลับมาปรับตัวขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงอยู่

แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินอาจถูกกดดันบ้างจากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่

โดยเฉพาะ Tesla +5.6% ท่ามกลางความหวังว่ารัฐบาล Trump 2.0 อาจผ่อนคลายกฎระเบียบควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.60% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.39%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มบริษัทยา อาทิ Novo Nordisk -0.7% สอดคล้องกับแรงขายหุ้นกลุ่ม Healthcare สหรัฐฯ ในช่วงนี้

ทว่าตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell +1.1% ยกเว้น Equinor -3.4% หลังทาง Equinor ได้ระงับการผลิตน้ำมันที่บ่อน้ำมัน Johan Sverdrup ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% ได้ ท่ามกลางความต้องการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวของผู้เล่นในตลาด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่โซน 4.40% โดยเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways แถวโซนปัจจุบัน

จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม หลังล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างก็ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดตาม Dot Plot เดือนกันยายน ไปพอสมควรแล้ว โดยผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาส 58% ที่จะลดดอกเบี้ย ในการประชุมเดือนธันวาคม

ส่วนในปีหน้า เฟดอาจลดดอกเบี้ยต่อราว 2 ครั้ง ทั้งนี้ เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว (เน้น Buy on Dip)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) กลับมาแข็งค่าขึ้นสู่โซน 154.40 เยนต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็เริ่มชะลอลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ดูจะร้อนแรงขึ้นในช่วงนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่โซน 106.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.1-106.8 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงขึ้น รวมถึงจังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นกลับสู่โซน 2,615 ดอลลาร์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และเฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักดังกล่าว

โดยเรามองว่า ควรจับตาถ้อยแถลงของผู้ว่าการ BOE ในช่วง 17.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า BOE จะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งหาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้ 

นอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาเป็นประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ร้อนแรงอีกครั้ง รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.64-34.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.30 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ  

โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น โดยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวกลับขึ้นมายืนเหนือแนว 2,600 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขายทำกำไรและปรับโพสิชั่นต่อเนื่อง หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.45-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซน  และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ