ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 3ธ.ค. “อ่อนค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์

03 ธ.ค. 2567 | 01:21 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 02:42 น.

ค่าเงินบาทระหว่างวันอาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังรับแรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย ส่วนแรงขายหุ้นไทยชะลอลงบ้าง ควรระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐ

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้  3 ธ.ค.2567 ที่ระดับ  34.51 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.47 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทอาจมีจังหวะอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ บ้าง แต่เรามองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน

 เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ โดยเงินบาทก็อาจติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 34.55-34.60 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ ก็อาจมีโซนแนวต้านถัดไปในช่วง 34.80 บาทต่อดอลลาร์

โดยเรามองว่า เงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน (คาดว่าผู้เล่นในตลาดจะรอยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม Nonfarm Payrolls ในวันศุกร์นี้เป็นหลัก) หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นชัดเจน ตามการปรับลดโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งอาจเห็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนในช่วงนี้ หลังบรรดานักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะบอนด์ไทย ส่วนแรงขายหุ้นไทยก็ชะลอลงบ้าง ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงระหว่างวัน อาจเป็นไปอย่างจำกัด

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาทสามารถแกว่งตัวเกือบ +/-0.2% ได้ในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.65 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่โดยรวมยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.40-34.56 บาทต่อดอลลาร์)

โดยเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้น เข้าใกล้โซน 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) กลับสู่โซน 2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่เงินบาทก็แข็งค่าได้ไม่นาน ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

ท่ามกลางการอ่อนค่าลงของสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ที่เผชิญแรงกดดันจากความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศส

อีกทั้ง รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.4 จุด ซึ่งแม้จะยังคงสะท้อนภาวะการหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต แต่ก็ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังได้กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ทั้งราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ ทำให้เงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงด้วยถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

อย่าง Christopher Waller ที่ส่งสัญญาณว่า พร้อมสนับสนุนการเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม แต่การตัดสินใจดังกล่าวจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ได้รับ

โดยความเห็นดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เฟด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสราว 74% ที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Tesla +3.5%, Meta +3.2% หลังผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้

อย่างไรก็ดี หุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็เผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.97% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.24%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.66% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ SAP +2.7%, Hermes +4.8%

ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คงมั่นใจว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้พอสมควร

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นฝรั่งเศสก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศส

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ Sideways แถวโซน 4.20% โดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคมนี้

ทว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถปรับตัวลดลงต่อเนื่องได้มากนัก ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่มั่นใจว่า เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot เดือนกันยายน

ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Up โดยเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนในช่วงแรกจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความวุ่นวายของการเมืองฝรั่งเศส อีกทั้งรายงานข้อมูลดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ก็ออกมาดีกว่าคาด

 ทว่า เงินดอลลาร์ยังคงถูกกดดันจากการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาด และยังถูกกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 106.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.1-106.7 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ โดยรวมราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

ทว่ายังคงเห็นแรงซื้อจากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง ในจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลง ทำให้โดยรวมราคาทองคำสามารถแกว่งตัวในช่วง 2,660 ดอลลาร์ ได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพุธนี้)

 นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสที่ยังคงมีความวุ่นวายอยู่ และอาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.51-34.53 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.09 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับ Sentiment ที่อ่อนแอของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียและเงินหยวน หลังจากนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเตือนว่าสหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีอัตรา 100% หากกลุ่ม BRICS ผลักดันแนวคิดหนุนสกุลเงินใหม่ หรือสกุลเงินอื่นๆ มาทดแทนเงินดอลลาร์ฯ

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.35-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนต.ค. ของสหรัฐฯ