thansettakij
ครม.ถกวาระลับ ออก พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. คุมทุจริตตลาดหุ้น

ครม.ถกวาระลับ ออก พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. คุมทุจริตตลาดหุ้น

26 มี.ค. 2568 | 22:01 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2568 | 22:54 น.

ครม. 27 มีนาคม 2568 ถกวาระลับ ออก พ.ร.ก.เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. สืบสวนสอบสวนความผิดต่อตลาดหุ้นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอการทำงานของตำรวจ

วันนี้ (27 มีนาคม 2568) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง แจ้งว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... โดยเสนอเข้ามาเป็นวาระลับ 

ทั้งนี้ในการเสนอร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... เข้ามาในครั้งนี้ ได้มีการรวบรวมความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาแล้ว ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น 

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.ก.แก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ได้มีการเพิ่มหมวดใหม่ เรื่อง "การสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่" โดยให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. สามารถสืบสวนและสอบสวนความผิดบางประเภทได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอการทำงานของตำรวจเหมือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในร่างของกฎหมายฉบับแก้ไขใหม่ได้ระบุนิยามความผิดที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนและสอบสวนได้โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. ความผิดตามมาตรา 296 ประกอบกับมาตรา 240 มาตรา 242 หรือมาตรา 244/3 (1)
  2. ความผิดตามมาตรา 296/1 ประกอบกับมาตรา 244/3 (2)
  3. ความผิดอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.

โดยในความผิดดังกล่าวส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน (Market Misconduct) เช่น การใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) การสร้างราคาหลักทรัพย์ (Market Manipulation) และการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ (False Disclosure) ซึ่งเป็นความผิดที่ ก.ล.ต. มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบเป็นพิเศษ เป็นต้น