Pursuit of Perfection การแสวงหาความสมบูรณ์แบบในการลงทุน

05 ก.ย. 2565 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2565 | 16:06 น.

Pursuit of Perfection การแสวงหาความสมบูรณ์แบบในการลงทุน :คอลัมน์ Investing Tactic โดย กวิน สู่พานิช เจ้าของเพจ Kavin’s Hybrid Trading และ วิทยากรพิเศษโครงการ SITUP

 

ช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกของเราเผชิญกับวิกฤติและความผันผวนหลายครั้ง ในแต่ละครั้งนั้นมีความรุนแรงที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะวิกฤติ COVID-19  เราจะเห็นการเคลื่อนไหวที่รุนแรงในหลายสินทรัพย์ ทั้งที่ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงจนสร้างเศรษฐีใหม่ก็หลายคน ทั้งในคริปโตเคอร์เรนซี ในสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงสินทรัพย์อย่างตราสารทุน

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมปัจจุบันที่เป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อและเชื่อมถึงกันได้เพียงแค่ปลายนิ้ว เสียงล่ำลือและการบอกต่อความหอมหวานของกำไรจากโลกแห่งการลงทุน รวมถึงผู้มีชื่อเสียงใหม่และร่ำรวยหน้าใหม่ๆ ที่สร้างความร่ำรวยจากตลาดทุน ย่อมกระตุ้นความอยากมีอยากได้ของผู้คนนอกวงการ

 

 

 

รวมถึงความง่ายในการเปิดบัญชีซื้อขายที่ทุกอย่างสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้หมด และไม่ต้องใช้เงินลงทุนมูลค่าสูงแบบสมัยเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ปัจจุบันทุกคนสามารถเริ่มต้นลงทุน (หรือบางท่านก็เข้ามาเสี่ยงโชค) ด้วยเงินไม่ถึง 1 แสนบาท โดยเฉพาะโลกคริปโตฯ ที่การเคลื่อนไหวในระดับหลัก 100% สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน การลงก็เช่นกัน สามารถปรับตัวลง 99.99% ได้ภายใน 1 สัปดาห์

 

ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ข้อจำกัดในการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่นั้นแทบไม่มีอยู่อีกต่อไป (Barrier to entry) ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ผู้คนต้องอยู่บ้าน และบางส่วนโชคร้ายโดนให้ออกจากงานหรือปิดกิจการร้านค้า เหลือเพียงไม่กี่ทางเลือกที่สามารถทำได้ การออกมาแสวงหาความมั่งคั่งจากตลาดทุนก็เป็นหนึ่งในทางเลือกเหล่านั้น

 

ส่วนมากแล้วผู้คนที่เริ่มต้นเข้ามาเป็นมือใหม่ในตลาดทุนนั้น มักจะหาความรู้รวมถึงพยายามหา “สูตรสำเร็จ” หรือที่ในตำราชอบเรียกกันติดปากว่า จอกศักดิ์สิทธิ์ (Holy Grail) ในการลงทุน เพื่อที่จะได้สร้างความมั่งคั่งอย่าง “รวดเร็วที่สุด” และ “สบายที่สุด” ซึ่งในบางสภาวะตลาด วิธีการเก็งกำไรหรือการลงทุนรูปแบบหนึ่งก็สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำได้

 

เช่น การเทรดแบบอิงแนวโน้มของราคา (Trend Following) ใช้ได้ดีมากในสภาวะตลาดหลังวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา (ช่วงปี2564) และใช้แทบไม่ได้เลยในปีนี้ (โดยเฉพาะคนที่เทรดด้วยการใช้แผน Long Only หรือเก็งกำไรเฉพาะขาขึ้นเท่านั้น) แต่แทบไม่มีแผนการไหนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมในทุกสภาวะตลาด เพราะทุกแผนการย่อมมีข้อเด่นและข้อด้อยในตัวแผน

 

เมื่อเจอเหตุการณ์หรือสภาวะตลาดที่ไม่เป็นใจกับแผนการที่ใช้อยู่ ทำให้เราได้กำไรน้อยลงหรือเคราะห์ร้ายจากกำไรเป็นขาดทุน นักลงทุนมือใหม่ (รวมถึงมือเก่าก็เช่นกัน) บางส่วนถอดใจ ละทิ้งซึ่งแผนการที่ใช้มาในอดีต (ในบางครั้งแผนการยังไม่ได้รับการพิสูจน์เลยด้วยซ้ำว่าผลตอบแทนเป็นอย่างไรในสภาวะตลาดที่เป็นใจ) และมุ่งแสวงหาแผนการใหม่ เปรียบเสมือนการแสวงหาจอกศักดิ์สิทธิ์ไปเรื่อย ๆ เพื่อที่ว่าวันนึงระบบแผนการนี้จะคงอยู่กับเราไปตลอด

Pursuit of Perfection การแสวงหาความสมบูรณ์แบบในการลงทุน

จึงเป็นที่มาของหัวข้อของบทความในวันนี้ เรื่อง “การแสวงหาความสมบูรณ์แบบในการลงทุน” โดยจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ผ่านมา ได้ผ่านช่วงเรียนรู้ ประยุกต์ ลอก นำแผนของครูอาจารย์ต่างๆ มาใช้เหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่างก็หลายปี ซึ่งเหมือนตลกร้ายที่ในสภาวะตลาดไม่เป็นใจ เราเปลี่ยนไปอีกแผนเพราะมีผู้รู้บอกว่าแผนนี้สิ ช่วงนี้กำไรดีนะ เมื่อเราเปลี่ยนบางครั้งตลาดเปลี่ยน แทนที่เราจะกำไรกลับกลายเป็นขาดทุน แล้วระบบเก่าก็กลับมาอยู่ในรอบที่สามารถกำไรอีกครั้ง

 

ผมได้วนเวียนกับการแสวงหาไปเรื่อย ๆ โดยลืมคิดไปว่า ระบบที่สมบูรณ์แบบที่สุดนั้นคือระบบที่ตรงกับจริตเราที่สุด โดยผมนั้นค่อนข้างโชคดีที่ผู้ใหญ่ และครูเมตตาสอนแนวความคิดว่า หา ”แก่น” ของการลงทุนของตนเองให้เจอ เมื่อได้รากฐานที่มั่นคงแล้ว เราจะปรับปรุง ต่อยอดโดยมีหลักการที่เป็นฐานของความเชื่อ (Core belief) ย่อมสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า และมีความมั่นคงในจิตใจที่มากกว่า

 

ดังนั้น จุดประสงค์ของการแสวงหาความสมบูรณ์แบบในการลงทุน คือการหาสูตรสำเร็จที่เป็นการ Tailor Made สำหรับเรา หรือเป็นสูตรสำเร็จที่เหมาะกับเราที่สุด เข้ากับจริตของเรามากที่สุด เพราะทุกคนล้วนแต่มี ประสบการณ์ ความเชื่อ ความกล้า และความกลัวที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ One strategy fit for all เราจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงและดัดแปลงให้เข้ากับตัวตนของเรามากที่สุด

 

เมื่อประสบการณ์ของเรามากขึ้น สิ่งที่จะตามมาคือการแสวงหาความสมบูรณ์แบบที่ดีขึ้นหรือการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะทุกระบบย่อมมีจุดอ่อนที่เรามองข้ามไปในครั้งแรกหรือในตอนวางแผนระบบ แต่เราจะเจอจุดที่สามารถปรับปรุงได้เมื่อใช้ระบบไประยะเวลาหนึ่ง ถ้าการปรับปรุงสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นเพียง 1% ต่อการลงทุน ลองคิดดูว่าการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ 10 ครั้ง เราสามารถสร้างความแตกต่างได้ถึง 10%

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแผนการอะไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราต้องให้กับระบบ คือระยะเวลาในการพิสูจน์ระบบที่นานพอที่จะรับรู้ถึงช่วงเวลาที่สามารถสร้างผลตอบแทนตาม สมมุติฐาน และระยะเวลาที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ หรือการประสบสภาวะขาดทุน ว่าเราสามารถยอมรับได้หรือไม่ และมีอะไรที่สามารถปรับปรุงหรือไม่

 

พอได้อ่านถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงมีคำถามในใจว่าแล้วระบบที่ว่าเป็นการ Tailor Made เราจะเริ่มต้นอย่างไร ผู้เขียนขอเสนอแนวทางการวางแผน 2 ข้อครับ

  1. เราต้องรู้ตัวเราเองก่อนว่าเราเป็นนักลงทุนแบบไหน หรือที่เรียกว่าจริต เช่น เราไม่ชอบถือหุ้นเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี ชอบความตื่นเต้น สาย Day trade หรือการเก็งกำไรที่ใช้เวลาไม่นาน ก็น่าจะเหมาะกับตัวเรามากกว่าการลงทุนเน้นคุณค่า หรือการใช้ Trend Following ในภาพระดับ Weekly chart หรือ Monthly chart หรือเราชอบเห็นการเติบโตของธุรกิจ อยากเห็นการเติบโตของกำไรในทุกไตรมาส การลงทุนโดยใช้ปัจจัยพื้นฐานหรือเน้นคุณค่า ย่อมตอบโจทย์มากกว่าการเก็งกำไรระยะสั้น รวมถึง เราต้องตอบตนเองให้ได้ถึงความสามารถในการรับความเสี่ยง ว่าเราทนรับการขาดทุนได้เท่าไหร่หรือทนช่วง Draw down ได้มากแค่ไหน ซึ่งจุดนี้อาจจะเกิดข้อขัดแย้งในจิตใจได้ครับ ระหว่างการทนรับการขาดทุนได้จริงกับการทนรับการขาดทุนที่เราคิดว่าเรารับได้ จุดนี้ต้องค่อย ๆ ปรับจากการลงมือทำจริง เรียนรู้จากตลาดของจริงครับ
  2. ฐานทุนหรือเงินลงทุนของเราเหมาะสมกับหลักการที่เราเลือกหรือไม่ ปัจจัยข้อนี้จะมีผลต่ออัตราผลตอบแทนที่เราคาดหวังและแนวทาง เช่น มีฐานทุน 1 แสนบาท แต่เลือกจะเป็นการลงทุนเน้นคุณค่าที่สร้างผลตอบแทน 30% ต่อปี แต่เป้าหมายคือมี10 ล้านบาท ก็จะเป็นแนวทางการลงทุนที่ค่อนข้างท้าทาย หรือท่านที่ออกมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลาแล้วต้องดึงเงินจากบัญชีการลงทุนมาเพื่อใช้จ่ายรายเดือน ก็จะเจอปัญหาถ้าหากใช้แผนการลงทุนระยะยาวแล้วไม่มีทุนสำรองสำหรับใช้จ่าย

 

มาถึงบทสรุปของบทความในวันนี้ การลงทุนนั้นไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว เหมือนกับชีวิตของเราที่ต้องพบเจอทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ ซึ่งประสบการณ์จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดแต่งระบบและแนวทางการลงทุนของเราให้เป็น Holy Grail ที่เหมาะสมกับเราที่สุด

 

สิ่งหนึ่งที่เราต้องแลกคือ “เวลา” และ “ความทุ่มเท” ถ้าหากเรามองการลงทุนเป็นเรื่องเล่น ๆ เป็นงานอดิเรก ผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมเหมือนกับงานอดิเรกครับ ขอปิดท้ายด้วยประโยคหนึ่งซึ่งครูไก่(กนิษฐา รอดดำ) สอนผมมา “ยืนระยะให้นานพอ เดี๋ยวโอกาสมา (ก็) รวยเอง”  ขอบคุณครับ และขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ