กสิกรไทย ส่งต่อ ‘น่านเพาะพันธุ์ปัญญา’ สู่ระบบการศึกษาไทย

15 ต.ค. 2565 | 01:20 น.

"น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” โชว์ความสำเร็จ ปิดโครงการต่อยอดสู่ระบบการศึกษาไทย เผยถูกนำเข้าสู่แซนด์บ็อกซ์การศึกษาแล้ว

กสิกรไทย วางแผนต่อยอดพัฒนาการศึกษาไทยเพิ่ม เผย “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” 3 ปี สร้างโรงเรียนต้นแบบ 30 แห่ง ครูเข้าร่วมโครงการ 161 คน เด็กนักเรียน 1,277 คน ได้รับการเปิดโลกทัศน์ความคิดสร้างสรรค์การเรียนรู้ยั่งยืน

 

“ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย” เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ด้วยจิตสำนึกของกสิกรไทย ที่ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจให้มีกำไร แต่ให้ความใส่ใจกับสังคมโดยเฉพาะด้านการศึกษา ทำให้เกิดแนวคิดการสร้างเป็น Research-Based Learning จนเป็นที่มาของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

ตลอดการดำเนินโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา สู่น่านเพาะพันธุ์ปัญญา รวมระยะเวลากว่า 10 ปี เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2556 โดยส่วนของน่านเพาะพันธุ์ปัญญา เริ่มโครงการเมื่อปี 2562 และกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้ปิดโครงการเรียบร้อย พร้อมกับจัดให้เด็กที่เข้าร่วมโครงการได้ระดมความคิดศึกษา ค้นคว้า และวิจัยปัญหาในท้องถิ่นจังหวัดน่าน และนำเสนอแนวคิดที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านทรัพยากรและการสร้างธุรกิจ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในจังหวัดน่าน โดยศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยพะเยาและกสิกรไทย ได้จัดกิจกรรมเวทีประลองปัญญา Eduthon ด้วยโจทย์ “ความลับของบ้านฉัน”
    

เด็กๆ ได้นำเสนอแนวคิดที่หลากหลาย อาทิ การรักษาแหล่งน้ำ การจัดการที่ยั่งยืน ความเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว แหล่งจัดหาทรัพยากร แลกเปลี่ยนสินค้า และสร้างรายได้หมุนเวียน ผลการแข่งขัน โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา และโรงเรียนนาหมื่น และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนจุนวิทยาคม โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 และโรงเรียนปัว

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์หัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มีรูปแบบการเรียนรู้จากการทำโครงงานฐานวิจัยจากเรื่องราวใกล้ตัว โดยครูเป็นผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือสำคัญ 3 ประการคือ ถามคือสอน เป็นการตั้งคำถามกับผู้เรียน, สะท้อนคิดคือเรียน ชวนผู้เรียนสะท้อนความคิด และ เขียนคือคิด
    

ขณะนี้ เพาะพันธุ์ปัญญา ได้เข้าไปอยู่ในแซนด์บ็อกซ์การศึกษาแล้ว 18 จังหวัด อาทิ ศรีสะเกษ สงขลา สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และกำลังผลักดัน น่าน เป็นจังหวัดต่อไป ซึ่งหลังจากนี้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะพัฒนาต่อยอด ส่วนธนาคารกสิกรไทย ก็มีแนวทางในการพัฒนาการศึกษาต่อเนื่อง ในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังคิดพัฒนาอยู่ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,826 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2565