ซื้อ SSF – RMF ต้องแจ้งลดหย่อนภาษีกับ บลจ.

18 พ.ย. 2565 | 22:05 น.

รู้หรือไม่ว่า ถ้าซื้อกองทุน SSF และกองทุน RMF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้กับ บลจ. ที่ตัวเองได้ซื้อ ถ้าไม่แจ้งจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้

 

ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 414 และ 415) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน และการถือหน่วยลงทุนในกองทุน SSF และกองทุน RMF ตามลำดับ

 

โดยกำหนดให้การซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อ บลจ. ที่ตัวเองได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF และกองทุน RMF และ บลจ. ต้องส่งข้อมูลของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 มกราคมของปีถัดไป (เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น)

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ หมายความว่านักลงทุนจะไม่สามารถแจ้งตรงต่อกรมสรรพากรโดยใช้หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนแบบเดิมได้อีก ซึ่งวิธีการใหม่ดังกล่าวเป็นการดำเนินการคล้ายการนำส่งข้อมูลเบี้ยประกัน ที่กรมสรรพากรได้ให้ผู้เอาประกันแจ้งความประสงค์ไปก่อนหน้า ทั้งบริษัทประกันและ บลจ. ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าในการเปิดเผยข้อมูลก่อน จึงจะสามารถนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรได้

 

แจ้งความประสงค์ขอลดหย่อนภาษี

 

นักลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์ได้ด้วยตัวเอง ผ่านทางตัวแทนขายหน่วยลงทุน (ใช้แบบฟอร์มแจ้งความประสงค์) หรือผ่านทาง บลจ. (ศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ บลจ.) โดยหากมีเลขผู้ถือหน่วยลงทุนหลายเลข ทั้งที่เปิดบัญชีกับ บลจ. โดยตรง  และตัวแทนขายอื่น ๆ การแจ้งความประสงค์จะมีผลกับทุกเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุนของ บลจ. ภายใต้เลขที่บัตรประชาชนเดียวกัน นักลงทุนจึงสามารถแจ้งความประสงค์เพียงครั้งเดียวได้ โดยไม่จำเป็นต้องติดต่อทุกตัวแทนที่มีบัญชีของ บลจ. นั้น ๆ อยู่

 

หมายความว่า หากลืมขั้นตอนนี้ไปก็จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน SSF หรือกองทุน RMF ได้ เพราะกรมสรรพากรจะยอมรับหลักฐานการซื้อหน่วยลงทุนจาก บลจ. โดยตรงเท่านั้น

 

สำหรับการแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางออนไลน์ นักลงทุนต้องกรอกข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตน ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน / เลขประจำตัวผู้เสียภาษี วันเดือนปีเกิด และเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุน (Unitholder Number) โดยจะได้รับข้อความรหัสผ่านครั้งเดียว (OTP) ส่งไปยังหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ตามข้อมูลในระบบทะเบียนของเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุน ที่ได้แจ้งไว้กับ บลจ. ที่สำคัญการแจ้งความประสงค์ลดหย่อนภาษีไม่จำเป็นต้องทำทุกปี สามารถทำเพียงครั้งเดียวและจะมีผลไปตลอดจนกว่านักลงทุนจะมีการแจ้งยกเลิกความประสงค์ และหากมีการลงทะเบียนแสดงความประสงค์ซ้ำหลายครั้ง บลจ. จะถือเอาข้อมูลการแจ้งครั้งล่าสุดเพื่อดำเนินการ

 

เมื่อซื้อกองทุน SSF หรือ RMF ต้องทำอะไรต่อ

 

  • ซื้อกองทุน SSF หรือ RMF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ต้องแจ้งความประสงค์แก่ บลจ. จึงจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามเงื่อนไขและต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 หากถ้าแจ้งความประสงค์หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จะได้รับการคืนภาษีล่าช้า

 

  • ผู้ซื้อกองทุน SSF หรือ RMF แจ้งความประสงค์ผ่านเจ้าหน้าที่ดูแลกองทุนของตัวเองโดยตรง หรือลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ของ บลจ. ที่ซื้อได้โดยตรง

 

  • หากซื้อกองทุน SSF หรือ RMF ในหลายแพลตฟอร์ม ต้องลงทะเบียนด้วยเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุน (Unitholder Number) ให้ครบทุกที่ แม้ว่าจะเคยลงทะเบียนของ บลจ. นั้นไปแล้วก็ตาม

 

  • บลจ.จะเป็นผู้ส่งหลักฐานให้กับกรมสรรพากรโดยตรง โดยกรมสรรพากรจะไม่รับหลักฐานการซื้อกองทุน SSF หรือ RMF จากผู้มีเงินได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบกระดาษ ไฟล์ PDF หรือเอกสารใด ๆ ก็ตาม

 

 

ที่มา :   setinvestnow.com   โดย  :  กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย