ผลจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ครั้งที่ 2 ยื่นขอใช้ขอรับบริการกว่า 6,000 รายการ

21 พ.ย. 2565 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2565 | 15:54 น.

ผลการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 2 จังหวัดขอนแก่น คลัง แจงจำนวนขอบริการ 6,000 รายการ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 2

  • ระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2565
  • ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น
  •  ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานกว่า 6,000 รายการ”
  • การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 2 จังหวัดขอนแก่น

 

ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นประธานเปิดงานและเยี่ยมชมงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เน้นย้ำในช่วงการกล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า “งานมหกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน จึงขอให้ประชาชนที่ประสบปัญหาหันหน้าเข้าหารือกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งที่ร่วมงานมหกรรมพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาล”

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผลของการจัดงานมหกรรมประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีรายการที่ขอรับบริการภายในงานกว่า 6,000 รายการ ประกอบด้วย

  • การขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุดกว่า 2,000 รายการ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดงานมหกรรมครั้งที่ 1 และสะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนจากการที่ประชาชนสามารถพัฒนาอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้และมีทักษะในการบริหารจัดการด้านการเงิน
  • รองลงมา คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมกว่า 1,500 รายการ การขอสินเชื่อเพิ่มเติมกว่า 1,000 รายการ
  • และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิต การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น การขาย NPA ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น ประมาณ 1,500 รายการ

 

มหกรรมร่วมใจแก้หนี้

ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนทำได้ต่อเนื่องและครอบคลุมประชาชนในทุกพื้นที่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจึงมีแผนที่จะจัดงานครั้งต่อ ๆ ไป อีก 3 ครั้ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ดังนี้

  • ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 – 18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่
  • ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี วันที่ 20 – 22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน
  • ครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา วันที่ 27 – 29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นอกจากการจัดงานมหกรรมสัญจรแล้ว กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยยังจัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 130,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 300,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลร้อยละ 37 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 18 ภาคกลางร้อยละ 12 และภาคอื่น ๆ ร้อยละ 33 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครติดและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 77 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 7 และจำนำทะเบียนรถร้อยละ 4

สำหรับการลงทะเบียนเพื่อแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพิ่มความช่วยเหลือให้กับลูกหนี้ใน 2 เรื่อง คือ

(1) เพิ่มประเภทสินเชื่อที่เข้าร่วมงานมหกรรมออนไลน์ ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยเป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ค้างชำระตั้งแต่ 31 วันขึ้นไป ก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยเป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 31 วันขึ้นไป ก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เช่นกัน

(2) ขยายระยะเวลาลงทะเบียนออนไลน์จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อขยายโอกาสให้ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนมากขึ้นและสอดคล้องกับระยะเวลาในการจัดงานมหกรรมสัญจรในต่างจังหวัด

ดังนั้น ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมสัญจรได้ทางเว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่หน้างานมหกรรม และสามารถลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้ทางเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/DebtFair หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอเชิญชวนประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ได้ทั้งระบบออนไลน์ หรือเข้าร่วมงานมหกรรมสัญจรที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 3 ครั้ง ในเดือนธันวาคม 2565 และมกราคม 2566 โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 – 18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ หรือสามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากสาขาของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศได้เช่นกัน”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

1. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โทร. 02 202 1868 หรือ 02 202 1961

2. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือสายด่วน 1115

3. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02 111 1111

4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555

5. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000

6. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือสายด่วน 1357

7. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 169 9999

8. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 650 6999 หรือสายด่วน 1302

9. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999

 

ที่มา: กระทรวงการคลัง