วันนี้ (10 ธันวาคม 2565) ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า
ธนาคารกรุงไทย อาจเป็น ‘รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ’ หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่กรณี
ถามกันมากว่า ธนาคารกรุงไทยยังเป็นรัฐวิสาหกิจหรือเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่หรือไม่ คำตอบที่ถูกต้องของเรื่องนี้คืออาจเป็นอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่ากำลังพูดถึงเรื่องอะไร ต้องการอะไร พูดในฐานะอะไร และอ้างกฎหมายอะไร
เพราะสถานะตามกฎหมายของธนาคารฯ มีดังนี้
1. “ไม่เป็น” ทั้งรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ. วิธีงบประมาณฯ, พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ, พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ จึงไม่ต้องปฏิบัติกฎหมายเหล่านี้ (คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณฯ ว่าไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ยังเป็นหน่วยงานรัฐ)
2. “เป็น” รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช., พ.ร.บ. อัยการฯ, พ.ร.บ. หนี้สาธารณะฯ, พ.ร.บ. การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ
3. “ไม่เป็น” หน่วยงานในกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจกว่าสิบฉบับอีกต่อไป
4. “เป็น” ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ที่ถือหุ้น 55.07% โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
เหตุนี้ การชี้ว่าธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐหรือไม่ จึงต้องว่าเป็นกรณีไป
เรื่องประหลาดนี้เริ่มจากการแก้กฎหมายหนึ่งฉบับจนเกิดช่องว่าง แล้วไล่ตีความกฎหมายอื่นแบบชนะบ้างแพ้บ้างเช่นนี้ หากช่วยให้ธนาคารคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพเป็นประโยชน์แก่องค์กรและประเทศ สังคมคงยอมรับได้ แต่จะให้ชาวบ้านเชื่อสนิทใจหรือไม่ ลองไปถามดูครับ
เชื่อว่า หลังจากนี้คงมีอีกหลายรัฐวิสาหกิจรวมถึงบริษัทลูกบริษัทหลานของรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลของหน่วยงานรัฐ จะทำตัวเป็นศรีธนญชัย หาช่องตีความเหมือนที่ธนาคารกรุงไทยทำตัวอย่างไว้
สิ่งที่รัฐวิสาหกิจไทยไม่เปลี่ยนไปจากอดีตคือ เคยชินกับการผูกขาด ชอบความคลุมเครือ อะไรง่ายได้เปรียบก็เอาอย่างนั้น อะไรที่มาควบคุมตรวจสอบหรือเห็นว่ายุ่งยากเป็นภาระกับตนก็ไม่เอา รัฐวิสาหกิจของไทยส่วนใหญ่จึงด้อยประสิทธิภาพ แฝงไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชัน
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการวินิจฉัยวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยกรมบัญชีกลาง ได้สรุปสถานะธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ว่าไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แล้ว
อย่างไรก็ดี กรุงไทยยังสามารถเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะต้องวางหลักประกันสัญญาตามระเบียบ ข้อ 168 และดำเนินการตามขั้นตอนของบริษัททั่วไป ส่วนกรณีการเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐของโครงการที่ผ่านมานั้น ไม่มีผลต่อสัญญาที่ผ่านมา
สำหรับการวางเงินประกันสัญญาตามระเบียบ ข้อ 168 นั้น ระบุว่า หลักประกันการเสนอราคาและหลักประกันสัญญา ให้กำหนดมูลค่าเป็นจำนวนเต็มในอัตราร้อยละ 5 ของวงเงินงบประมาณหรือราคาพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ จะกำหนดอัตราสูงกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ก็ได้
โดยในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่มีระยะเวลาผูกพันตามสัญญาเกิน 1 ปี และพัสดุนั้นไม่ต้องมีการประกันเพื่อความชำรุดบกพร่อง เช่น พัสดุใช้สิ้นเปลือง ให้กำหนดหลักประกันในอัตราร้อยละห้าของราคาพัสดุที่ส่งมอบในแต่ละปีของสัญญา โดยให้ถือว่าหลักประกันนี้เป็นการค้ำประกันตลอดอายุสัญญา และหากในปีต่อไปราคาพัสดุที่ส่งมอบแตกต่างไปจากราคาในรอบปีก่อน ให้ปรับปรุงหลักประกันตามอัตราส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก่อนครบรอบปี
ส่วนกรณีที่หลักประกันต้องปรับปรุงในทางที่เพิ่มขึ้น และคู่สัญญาไม่นำหลักประกันมาเพิ่มให้ครบจำนวนภายใน 15 วันก่อนการส่งมอบพัสดุงวดสุดท้ายของปีนั้น ให้หน่วยงานของรัฐหักเงินค่าพัสดุงวดสุดท้ายของปีนั้นที่หน่วยงานของรัฐจะต้องจ่ายให้เป็นหลักประกันในส่วนที่เพิ่มขึ้น การกำหนดหลักประกันตามวรรคหนึ่ง จะต้องระบุไว้เป็นเงื่อนไขในเอกสารเชิญชวนให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือในสัญญาด้วย ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาวางหลักประกันที่มีมูลค่าสูงกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบเอกสารเชิญชวน หรือสัญญา ให้อนุโลมรับได้