คลัง-ธปท. กำหนดกรอบเงินเฟ้อ 1-3% ในปี 66

27 ธ.ค. 2565 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2565 | 16:34 น.

รมว.คลัง เผย ครม.ไฟเขียวเป้าหมายของนโยบายการเงินระยะปานกลาง “คลัง-ธปท.” กำหนดกรอบเงินเฟ้อปี 66 อยู่ที่ 1-3% ชี้เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดไตรมาส 3 ของปีนี้ คาดทยอยลดลงมาอยู่ในกรอบปี 66

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 

 

ทั้งนี่้ เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับปี 2566 ตามบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปี 2566

 

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ภายนอกประเทศ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตได้

 

“กนง. จะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว รวมถึงประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด  หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนเคลื่อนไหวออกนอกกรอบ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง”

 

ทั้งนี้ ในการการกำหนดกรอบเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนและช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

 

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูง การปรับเป้าหมายนโยบายอาจสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในระยะข้างหน้า และการกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้างร้อยละ 2 มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลาง

 

รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน