จากกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ UNIQ ก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่า 33.169 ล้านบาท ด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง “วิธีเฉพาะเจาะจง” ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างปี 60 ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี คือ วิธีการเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก และวิธีเฉพาะเจาะจง
สำหรับวิธีเฉพาะเจาะจงนั้น คือ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงือนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคา รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ กฎกระทรวง ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ได้ระบุเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กรณีดังต่อไปนี้
(ก) ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
(ข) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จำหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(ค) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการ ซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
(ง) มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(จ) พัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็นต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์หรือต่อเนื่องในการใช้พัสดุนั้น โดยมูลค่าของพัสดุที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมจะต้องไม่สูงกว่าพัสดุที่ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว
(ฉ) เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ
(ช) เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง
(ซ) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ขณะที่อำนาจในการสั่งซื้อ หรือสั่งจ้าง และลงนามในสัญญา โดยวิธีเฉพาะเจาะจงครั้งหนึ่ง เป็นอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งและภายในวงเงิน
1. หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ไม่เกิน 50 ล้านบาท
2. ผู้มีอำนาจเหนือขึ้นไปหนึ่งชั้น เกิน 50 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 (2)(ข) วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท มีหน้าที่ความรับผิดชอบ แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และกรณีไม่แต่งตั้งคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง