อัพเดท"หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้"มีโอกาสเบี้ยวจ่ายหนี้สักกี่ราย?

05 ม.ค. 2566 | 02:27 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2566 | 16:53 น.

ส่อง"หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้" สถานการณ์เข้าข่ายน่าห่วงไหม หลัง "ALL" เบี้ยวจ่ายเป็นรายแรกต้นปี 66 ฟังชัด ๆจาก "สมจินต์ ศรไพศาล" เอ็มดี สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

 

จากกรณี บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ( ALLผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้  รุ่น ALL 244A  ซึ่งครบกําหนดชําระดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 3 ม.ค.66 จํานวน 10,651,495.04 บาท โดยมีผู้ถือหุ้นกู้ทั้งสิ้น 573 ราย เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องในบริษัทนั้น 

 

ต่อสถานการณ์ดังกล่าว ปัจจุบันมีหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีปัญหา และมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้เช่นเดียวกับ  ALL มากน้อยแค่ไหน เรามาอัพเดทจาก "สมจินต์ ศรไพศาล" กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" ดังนี้

 

"ต้นปี 66 ที่แจ้งเข้ามา Thai BMA กรณีการ ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้  มีเพียงรายเดียว คือ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์  ส่วนอีกรายที่แจ้งมาล่าสุด คือ บริษัท สยามนุวัตร จำกัด  (SNW แต่กรณีหลังคือ แจ้งเพื่อขอยืดกำหนดครบอายุหุ้นกู้ออกไป 1 ปี เป็นปี 2567 โดยจะประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 12 ม.ค.66 เพื่อหาเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับผู้ถือหุ้นกู้และบริษัท จึงไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ "

 

กรรมการผู้จัดการ Thai BMA  กล่าวต่อ ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธ.ค.65 หุ้นกู้ที่มีปัญหา มูลค่า 89,222 ล้านบาท จำนวน19 ราย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 

 

  • กลุ่มเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ มีรายเดียวคือ บมจ.การบินไทย ( THAI ) มูลค่า 71,608 ล้านบาท 
  • กลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ ( restructure) มี 16 ราย มูลค่ารวม 14,273 ล้านบาท 
  • กลุ่มผิดนัดชำระหนี้ ( Default Payment) มี 2 ราย มูลค่ารวม 3,340  ล้านบาท 


 

กลุ่มผิดนัดชำระหนี้ ( Default Payment) มี 2 ราย ประกอบด้วย

 

  • 1.บมจ. เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ ( APEX ) ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายเป็นอาคารชุดโรงแรม อาคารชุดพักอาศัย และที่ดินจัดสรรพร้อมบ้านพักตากอากาศ รวมถึงให้บริการจัดการให้เช่าห้องชุด หรือบ้านพักตากอากาศที่ลูกค้าซื้อบางส่วนนำออกให้เช่าในระบบโรงแรม

 

จากข้อมูลการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า APEX มีมูลหนี้คงค้างหุ้นกู้ 765 ล้านบาท  โดยได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ APEX202A เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 65  และในเวลาต่อมา ทางบมจ.หลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้  ได้มอบหมายทนายความฟ้องร้องบริษัท (ผู้ออกหุ้นกู้และผู้จำนอง) ในฐานผิดสัญญา หุ้นกู้ จำนอง เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องและบังคับจำนอง เพื่อให้ได้เงินมาชำระหนี้ค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย โดยได้ยื่นฟ้องเป็นคดี ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตามประทับรับฟ้องเป็นคดีแพ่งหมายเลขคดีดำที่ พE515/2565  

 

  • 2.บมจ. เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป ( ACAP)   

 

ดำเนินธุรกิจการให้สินเชื่อ แบ่งเป็น สินเชื่อภาคธุรกิจ (Corporate Loan) และสินเชื่อรายย่อย (Retail Loan) 2. ธุรกิจให้บริการรับจ้างดำเนินงาน (Business Process Outsource Services) เช่น ให้บริการ Call center และ การติดตามหนี้ 3. ธุรกิจให้บริการด้านที่ปรึกษากฎหมายและสอบทานกระแสเงินสด (Cash Monitoring)

 

จากข้อมูลล่าสุด "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ACAP ยังมีมูลหนี้คงค้างเต็มจำนวน 2,675.3 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้มีการประชุมหารือแนวทางการชำระหนี้หุ้นกู้ผ่านตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ 4 ครั้ง และจัดประชุมร่วมกับผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่น 1 ครั้ง ผลการหารือ เงื่อนไขการชำระหนี้บางประเด็นยังอยู่หาข้อสรุป โดยทางบริษัทได้รับในหลักการของข้อเสนอในที่ประชุมเพื่อไปตกลงเจรจาในรายละเอียดระหว่างขั้นตอนของการทำแผนฟื้นฟูต่อไป

 

ดังนั้น หากรวมกรณีของ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) ณ วันที่ 4 ม.ค.66 หุ้นกู้เอกชนที่มีปัญหา มีมูลค่ารวม  89,232.65 ล้านบาท จำนวน 20 ราย จำนวนนี้เป็นกลุ่มผิดนัดชำระหนี้ 3 ราย มูลค่า 3,350.65 ล้านบาท

 

"หุ้นกู้ที่มีปัญหาราว 89,232.65 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของมูลค่าตลาดรวม 4.57 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าอดีตมาก เพราะได้รวมกรณีของหุ้นกู้การบินไทย แต่เมื่อเทียบกับ NPL ของระบบแบงก์ปัจจุบันที่ 2.7% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ " นายสมจินต์ กล่าวและว่า

 

ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนใหญ่มาจากการขาดสภาพคล่องขององค์กร ธุรกิจหดตัว ในขณะที่ภาระหนี้ยังมีอยู่ แนวทางแก้ไขพื้นฐานส่วนใหญ่ ก็จะยืดอายุชำระหนี้เงินต้น โดยยังจ่ายดอกเบี้ย

 

"ถามว่ากรณีของ ALL หุ้นกู้รายอื่นจะมีปัญหาตามหรือไม่ น่ากังวลหรือไม่ ในสถานการณ์แบบนี้  ผมอยากให้มองเป็นกรณีราย ๆไป จะไปเหมาหรือวัดทั้งระบบคงไม่ได้  และผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็ย่อมสูงตาม  ซึ่งเป็นหลักที่ผู้ลงทุนต้องคิดพิจารณาก่อนลงทุนในหุ้นกู้ " 

 

ปัจจุบัน หุ้นกู้เอกชนมีมูลค่ารวม 4.57 ล้านล้านบาท เป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade หรือ "กลุ่มระดับลงทุน" ( เรทติ้ง AAA ถึง BBB- ) ประมาณ 4.25 ล้านล้านบาท  ที่เหลืออีก  3.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 7% ของมูลค่าตลาด เป็นกลุ่ม High Yield Bond ( : หุ้นกู้ผลตอบแทนสูง เสี่ยงสูง )  ซึ่งขายในวงจำกัดกลุ่ม High Net Worth    

 

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นกู้ในปี 2566  มองว่าคงไม่แตกต่างจากปี 65  เพียงแต่การระดมทุน อาจไม่ได้เร่งตัวเหมือนปีก่อนที่มีสาเหตุจากดอกเบี้ยขาขึ้น

 

ปี 2565 ยอดระดมทุนผ่านหุ้นกู้ 1.26 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 23%  เป็น All time high ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคธุรกิจล็อกต้นทุนจากเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น และการพัฒนาการของตลาดตราสารหนี้

 

 

โดย   :  สุวิภา บุษยบัณฑูร

         :  [email protected]