นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.2 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,800 ล้านบาท หลังจากปี 2565 ที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ได้กว่า 9.44 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสิทธิ 1,504 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน จากการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องของธนาคาร ทำให้ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.90% ดังนั้นเป้าหมายเอ็นพีแอลปี 2566 ก็จะดูแลให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 3% โดยมีการตั้งเป้าหมายขายหนี้เสียปีละ 5,000 ล้านบาท
สำหรับแผนการระดมทุนปี 2566 ธนาคารจะได้เงินเพิ่มทุนจากรัฐบาลอีก 2,000 ล้านบาทหลังจากได้มาแล้ว 2,000 ล้านบาทในปีที่แล้วตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขณะเดียวกันยังมีแผนออกหุ้นกู้สีเขียว(กรีน บอนด์) เพื่อนำเงินมาปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีปรับธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว
นายรักษ์กล่าวว่า ธนาคารยังมีเป้าหมายสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และไม่ใช้ทางการเงินอย่างครบวงจร เช่น สินเชื่อให้คนตัวเล็กได้อัตราดอกเบี้ยเดียวกันกับเจ้าสัว ผ่านสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร
นอกจากนั้นยังมีการดำเนินโครงการ The S1 (SMEs One) วงเงินแรก 1,000 ล้านบาท สำหรับปล่อยสินเชื่อร่วมช่วยเหลือเอสเอมอีให้สามารถเข้าถึงวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น ที่ร่วมกับ
เช่น หากผู้ประกอบการต้องการเงินกู้ 40 ล้านบาท สามารถไปขอ SME D Bank หรือไอแบงก์ 20 ล้านบาทก่อน เพราะแบงก์มีข้อจำกัดให้ปล่อยสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท แต่ส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาท สามารถมาขอสินเชื่อที่ EXIM BANK ได้ หรือหากสินทรัพย์ไม่พอ บสย.ก็จะเข้าไปช่วยค้ำประกันด้วย เป็นต้น
ขณะที่ ปี 2566 นี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงชัดเจน ธนาคารโลกและ The Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี
ทั้งนี้ เป็นผลจากปัญหาเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงและดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งยอมรับว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวลดลง ฉะนั้น ธนาคารจะเน้นส่งเสริมการปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่มีการนำเข้าสินค้าเข้ามา เพราะถือว่าเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่า
อีกทั้งจะเข้าไปส่งเสริมธุรกิจบริการเพิ่มเติมด้วย เช่น ธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนเปิดโรงแรม ที่พัก ต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจสวนสัตว์ ซึ่งโมเดลธุรกิจใหม่ๆ จะให้ความสนใจมากขึ้น
ทั้งนี้ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและความไม่แน่นอนในหลากหลายมิติ ธนาคารจะส่งเสริมการบุกตลาดการค้าการลงทุนที่มีศักยภาพ และยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ผ่านตลาดใหม่ๆ อาทิ ตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และกลุ่มอาเซียน เป็นต้น