ปิดจ๊อบ “มหกรรมแก้หนี้สัญจร” คนแห่เคลียร์หนี้ 2.4 หมื่นล้านบาท

30 ม.ค. 2566 | 10:19 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2566 | 10:54 น.

คลังสรุปมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ประชาชนแห่ร่วมเคลียร์หนี้กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ฝั่งลงทะเบียนออนไลน์ ลงชื่อไว้กว่า 4 แสนรายการ เล็งขยายผลแก้หนี้กลุ่ม “ครู-แรงงาน”

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจร รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก

 

โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการมากกว่า 34,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 24,000 ล้านบาท โดยจัดลำดับการเข้ามาขอใช้บริการไว้ ดังนี้

 

  1. การขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ 13,000 รายการ
  2. การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมกว่า 10,000 รายการ
  3. การขอสินเชื่อเพิ่มเติมกว่า 4,000 รายการ
  4. การเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ประมาณ 7,000 รายการ

ขณะที่การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 27 – 29 มกราคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จังหวัดสงขลา มีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานมากกว่า 5,700 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้รูปแบบออนไลน์ ซึ่ง ณ วันที่ 30 มกราคม 2566 มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 185,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 407,000 รายการ ประกอบด้วย

  • ลูกหนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลร้อยละ 35
  • ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 30
  • ภาคอื่น ๆ ร้อยละ 35 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด

ขณะที่ประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ

  1. บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 75
  2. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 6
  3. สินเชื่อรายย่อยอื่นร้อยละ 5
  4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 4
  5. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถร้อยละ 4
  6. และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ร้อยละ 6

“แม้ว่าการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายที่จะขยายผลการแก้หนี้ลงไปเฉพาะกลุ่ม โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแก้หนี้สินครูและกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือหนี้ให้กับกลุ่มแรงงาน”