"ขอคืนภาษี"ย้อนหลังสูงสุดได้กี่ปี เช็ควิธีคำนวณ รับเงินคืนเมื่อไร

20 ก.พ. 2566 | 00:03 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2566 | 01:49 น.

ผู้เสียภาษีที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปี มากกว่าภาษีที่ต้องจ่ายจริง สามารถขอเงินคืนภาษีได้ แต่จะขอคืนภาษีย้อนหลังสูงสุดได้กี่ปี วิธีคำนวณนับย้อนหลัง และจะได้เงินภาษีคืนเมื่อไร มีคำตอบให้แล้วที่นี่

 

หากยื่นแบบภาษี แล้วคำนวณพบว่าถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปี มากกว่าภาษีที่ตัวเองมีหน้าที่ต้องจ่ายจริง เป็นสิทธิของผู้เสียภาษีสามารถขอคืนภาษีได้ 

เช่นจ่ายภาษีไว้เกินกว่าที่ตัวเองมีหน้าที่ แล้วมานึกได้ภายหลังว่า ตั้งแต่ทำงานปีแรกและมีการยื่นภาษีทุกปีเป็นเวลา 5 ปี แต่ไม่เคยยื่นหักลดหย่อนภาษีบิดา-มารดาที่อยู่ในความอุปการะ เพื่อนำมาคำนวณหักลดหย่อนภาษีได้รายละ 30,000 ต่อปี  ( บิดา-มารดา มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเงินได้พึงประเมิน ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี  ) ก็สามารถยื่นภาษีเพิ่มเติมย้อนหลังได้
 

วิธีคำนวณนับย้อนหลัง

กฏหมายกำหนดให้สามารถยื่นภาษีเพิ่มเติมย้อนหลังได้ แต่ต้องขอคืนภายใน 3 ปี นับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ซึ่งโดยปกติการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป  

ดังนั้นหากนับภายในเดือนมีนาคม 2566 ย้อนหลัง 3 ปี นั่นหมายความว่า ผู้เสียภาษีสามารถยื่นขอคืนภาษี สำหรับปีภาษี 2562 -2564 ส่วนปีภาษี 2565 ที่มายื่นในปี 2566 ถือเป็นปีภาษีปัจจุบัน หากยื่นไม่ครบสามารถยื่นเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว  

ยื่นขอคืนภาษีย้อนหลังได้ที่ไหน

การยื่นขอคืนภาษีย้อนหลัง ไม่สามารถยื่นผ่านออนไลน์ ต้องไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น โดยต้องเตรียมเอกสารแสดงรายได้ เอกสารหลักฐานขอลดหย่อนภาษี  เช่น

  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ
  • หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หรือแบบ ล.ย.03 เป็นต้น

 

 จะได้เงินภาษีคืนเมื่อไร

กรมสรรพากร จะคืนเงินภาษีให้ภายใน 90 วัน หรือ 3 เดือน นับจากวันที่ยื่นแบบขอเงินคืนภาษีเพิ่มเติม  นอกจากนี้หากกรมสรรพากรคืนภาษีล่าช้า เรามีสิทธิได้รับคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน โดยเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป

ช่องทางการรับเงินคืนภาษี

  •  พร้อมเพย์ : เข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  • เลือกรับเงินคืนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย (ทุกสาขา) หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) 
  • รับเงินคืนภาษีเข้าบัตร e-Money หรือ e-Wallet (แอปฯเป๋าตัง ) เฉพาะธนาคารกรุงไทย 

 

ที่มา :  กรมสรรพากร