วันนี้ (10 มี.ค. 66) ทางธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) พร้อมด้วย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ แถลงข่าว ยกระดับการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน หลัง ธปท. ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงิน ทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในการดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินตลอดเส้นทาง ทั้งการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองและรับมือ ซึ่งจะช่วยการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้รวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท.ให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาภัยทางการเงินที่ประชาชนถูกหลอกลวง จึงได้ยกระดับให้เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทุกสถาบันการเงินจะต้องดูแลและบริหารจัดการอย่างจริงจัง
ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อช่วยให้ระบบการเงินมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน และเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว ธปท. จึงได้เชิญผู้บริหารของสถาบันการเงินเข้าร่วมประชุมหารือ
พร้อมกำชับให้สถาบันการเงินทุกแห่งเร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถาบันการเงินทุกแห่ง
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงผลกระทบของภัยคุกคามทางการเงินที่ทวีความรุนแรง พร้อมยกระดับความปลอดภัยของภาคธนาคาร เพื่อรับมือและจัดการภัยทางการเงินออนไลน์ ตามแนวทางการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ได้มีการหารือร่วมกับทาง ธปท. ให้ดียิ่งขึ้น ในการป้องกัน
โดยภาคธนาคารได้ร่วมมือกันงดการส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ในการติดต่อกับลูกค้าในระยะนี้ และเร่งพัฒนาระบบป้องกันการทำธุรกรรมทุจริตอย่างต่อเนื่อง การตรวจจับ ธนาคารสมาชิกอยู่ระหว่างนำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัยให้ได้โดยเร็ว
พร้อมกันนี้ยังร่วมกันออกแบบ และพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชี ธุรกรรมต้องสงสัย และบัญชีม้า ระหว่างธนาคารเพื่อดำเนินการติดตามป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การตอบสนองและรับมือ
อย่างไรก็ตามได้จัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งเหตุได้โดยตรง ซึ่งในปัจจุบันมีธนาคารสมาชิกหลายแห่งเริ่มดำเนินการแล้ว
นอกจากนี้ ยังพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้ให้บริการ e-wallet ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาทุจริตภัยการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งระบบ
นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย ซึ่งมีความเสี่ยงถูกหลอกลวง การดูแลความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินให้กับลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ
โดยที่ผ่านมาสถาบันการเงินสมาชิกหลายแห่ง ได้มีแนวทางการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะการออกประกาศเตือนการไม่ส่งลิงก์ต่าง ๆ ให้กับลูกค้าและประชาชน
รวมทั้งเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากการร้องเรียนมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทาง และพัฒนาระบบการป้องกันภัยทุจริตทางการเงินที่จะเกิดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ภาคธนาคาร และสถาบันการเงินของรัฐยังอยู่ระหว่างการเร่งเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับ พ.ร.ก. มาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยบทบาทของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างบูรณาการ
ชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ประกอบด้วย
มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น
โดยให้สถาบันการเงิน งดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ ตลอดจนต้องยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้าในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน หรือทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป นอกจากนี้ จะกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวัน ให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด
มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย
เพื่อให้สถาบันการเงิน ช่วยจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า ธปท. จะกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด เพื่อให้สถาบันการเงิน รายงานไปสำนักงาน ปปง. รวมทั้งต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ
มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น
ให้สถาบันการเงินทุกแห่ง ต้องมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยเร็ว รวมทั้งให้ดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของสถาบันการเงิน