"SVB" ล้มละลายยังไม่เกิดความเสี่ยงเชิงระบบรุนแรง

13 มี.ค. 2566 | 01:39 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2566 | 01:39 น.

"SVB" ล้มละลายยังไม่เกิดความเสี่ยงเชิงระบบรุนแรง อนุสรณ์ชี้สถานการณ์ไม่เหมือนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2008 แนะสถาบันประกันเงินฝากของไทยควรเตรียมความพร้อม และแทรกแซงหากเกิดกรณีแห่ถอนเงินฝาก

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การล้มละลายของธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุน สถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ ธนาคารแห่งนี้เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ให้กับบรรดาบริษัทไฮเทคสตาร์ทอัพ 

การล้มละลายของธนาคาร SVB สะท้อนปัญหาฟองสบู่ในธุรกิจไฮเทคสตาร์ทอัพและปัญหาการขาดทุนจำนวนมากจากการลงทุนในตลาดพันธบัตรของสถาบันการเงินในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น มีการถือพันธบัตรระยะยาวจำนวนมาก ตราสารเหล่ามูลค่าลดลงอย่างมากอันเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของเฟด 

การบริหารความเสี่ยงล้มเหลวเมื่อตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ผันผวนมากภายใต้ภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้น และไม่สามารถมีสภาพคล่องมากพอให้กับผู้ฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อ ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากหลายประเทศอัตราเงินเฟ้อยังควบคุมไม่ได้ อย่างสหรัฐอเมริกา ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆยังขยายดีกว่าคาด 

อย่างไรก็ตาม การล้มละลายของธนาคาร SVB อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯลังเลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงๆ การล้มลงของธนาคาร SVB ซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินขนาดใหญ่เหมือนปี 2008 แต่ก็มีผลกระทบราคาหุ้นแบงก์ทั่วโลกและยังไม่น่าเกิดความเสี่ยงเชิงระบบรุนแรงขณะนี้
 

สถานการณ์ไม่เหมือนวิกฤตการณ์การเงินโลกปี 2008 ธนาคารกลางสหรัฐอาจทบทวนไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงซ้ำเติม และอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25-0.50% ในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงไปจะกดดันตลาดหุ้น มูลค่าพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่สถาบันการเงินถืออยู่มากเกินไป กระทบความเชื่อมั่นผู้ฝากเงิน 

กรณีการเกิดแห่ถอนเงินฝาก (Bank Run) ออกจากธนาคาร SVB จนกระทั่งแบงก์เกิดขาดสภาพคล่อง หากไม่มีการแก้ไขอย่างทันท่วงทีโดยการเข้าแทรกแซงของสถาบันประกันเงินฝากของทางการสหรัฐอเมริกา (Federal Deposit Insurance Corporation - FDIC) ปัญหาอาจลุกลามจนเกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินทั้งระบบได้แม้นไม่รุนแรงเท่าปี ค.ศ. 2008 ก็ตาม คาดกระทบการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมไฮเทคช่วงสั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถาบันการเงินของไทยนั้นมีความแข็งแกร่ง แต่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Protection Agency - DPA) ของไทยควรเตรียมความพร้อมและเข้าแทรกแซงทันทีหากเกิดกรณีแห่ถอนเงินฝากแบบสหรัฐฯ เพื่อหยุดปัญหาลุกลามต่อระบบการเงินโดยรวมได้ทันท่วงทีเช่นเดียวกับการดำเนินงานของสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐฯ (FDIC) 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ คือ ผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นและมาตรการเข้มงวดเพื่อคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางในหลายประเทศ ขณะที่รัฐบาลของชาติต่างๆ ก็จำเป็นต้องออกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เพิ่มภาระทางการคลังอย่างมากโดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว 

จากข้อมูลของ IMF ระบุ ปัจจุบัน 60% ของประเทศที่มีรายได้น้อยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะได้ ขณะที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง มีแนวโน้มความเสี่ยงเพิ่มสูงหากยังมีการใช้มาตรการประชานิยมโดยไม่ระมัดระวังเรื่องวินัยทางการเงินการคลัง 

และไม่ระบุแหล่งรายได้ให้ชัดเจนว่าจะนำรายได้ภาษีส่วนไหนหรือเกลี่ยงบตรงไหนมาสนับสนุน ควรทยอยถอนมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน การแจกเงินเพื่อช่วยการบริโภคและการท่องเที่ยว โดยควรเพิ่มนโยบายหรือมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงาน การไม่ทบทวนมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานซึ่งทำให้เกิด

ปัญหาภาระทางการคลังและปัญหาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มาตรการดังกล่าวยังไม่ส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือก กระตุ้นการลงทุนในภาคพลังงานหมุนเวียนและทางเลือก สะสมปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศต่อไป

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ไทยไม่มีปัญหาเรื่องอาหารแพงเนื่องจากเป็นประเทศผลิตอาหารส่งออก แต่ค่าพลังงานยังแพงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง หากเกิดวิกฤติการล้มละลายและขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินลุกลามในสหรัฐอเมริกา ปัญหาหนี้สาธารณะปะทุขึ้นในละตินอเมริกาหรือยุโรปบางประเทศ รวมทั้งเงินเฟ้อชะลอลงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ทิศทางการบริหารนโยบายการเงินควรต้องปรับให้รับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม มองว่าแบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องรีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 29 มีนาคมนี้ เนื่องจากอัตราเงินฟ้อไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ต่ำกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ส่งออกชะลอตัวแรง กำลังการผลิตส่วนเกินยังเหลืออยู่จำนวนมาก จึงไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ในภาคการผลิต 

แม้การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็ไม่ได้มีผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โดยอัตราการขยายตัวของประเทศ Emerging and Developing Asia ที่สูงกว่าทุกภูมิภาคที่ระดับ 4.9-5.0% จะกระตุ้นให้เงินไหลเข้าภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้อีก และ สถาบันการเงินในไทยและเอเชียตะวันออกยังคงมีฐานะการเงินแข็งแกร่งสามารถรองรับกรณีการล้มละลายของธนาคาร SVB ได้