วิกฤต SVB ส่อเค้าลามทั่วโลก ตั้งแต่ลอนดอนถึงสิงคโปร์

12 มี.ค. 2566 | 10:14 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2566 | 10:46 น.

หลังทางการสหรัฐ สั่งปิดธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB วิกฤตนี้ส่อเค้าลุกลามทั่วโลก ตั้งแต่ลอนดอนไปจนถึงสิงคโปร์

บรรดาผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ต่างตื่นตระหนกเกี่ยวกับการเข้าถึงเงินฝากที่ ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ความวิตกกังวลได้ลุกลามไปถึงแคนาดา อินเดีย และจีน

ในอังกฤษ SVB ได้วางแผนที่จะประกาศล้มละลายเร็ว ๆ นี้ พร้อมทั้งยุติการเทรดดิ้งและไม่รับลูกค้ารายใหม่แล้ว โดยเมื่อวันเสาร์ (11 มี.ค.) ผู้นำบริษัทเทคโนโลยีประมาณ 180 แห่งได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้ นายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษเข้าแทรกแซง

"การสูญเสียเงินฝากครั้งนี้เสี่ยงที่จะทำลายภาคเทคโนโลยีและทำให้ระบบนิเวศถอยหลังไป 20 ปี" ผู้นำบริษัทเทคโนโลยีในอังกฤษระบุในจดหมาย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะ SVB มีสาขาอยู่ในจีน เดนมาร์ก เยอรมนี อินเดีย อิสราเอล และสวีเดนด้วย เหล่าผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีออกโรงเตือนว่า กรณี SVB ล้มอาจทำลายสตาร์ตอัพทั่วโลก หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

ขณะเดียวกัน เอสพีดี ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SSVB) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในจีนของ SVB กับธนาคารเพื่อการพัฒนาเซี่ยงไฮ้ผู่ตงของจีน ได้ออกมาคลายความกังวลต่อลูกค้าเมื่อวานนี้ว่า SSVB ยังคงมีโครงสร้างทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง และมีงบดุลบัญชีสำหรับการดำเนินงานที่แยกเป็นอิสระ

"วิกฤตครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้นในวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. ดังนั้นขอให้เข้ามาป้องกันเสียตั้งแต่ตอนนี้"

บรรดาผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสตาร์ตอัพในอังกฤษระบุในจดหมายที่ส่งถึง นายฮันต์ โดยบริษัทที่ร่วมลงนามในจดหมายฉบับดังกล่าวได้แก่ อันแคปท์ (Uncapped), เอเพียน (Apian), พ็อกคิต (Pockit) และพิวะเทิล เอิร์ธ (Pivotal Earth)

นายฮันต์ได้หารือกับผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เกี่ยวกับสถานการณ์ของ SVB ในช่วงเช้าวันเสาร์ และจัดประชุมกับบริษัทที่ได้รับผลกระทบในวันเดียวกัน ต่อมาในวันนี้ (12 มี.ค.) นายฮันต์ระบุว่า กำลังทำงานเกี่ยวกับแผนการที่จะหลีกเลี่ยงหรือจำกัดความเสียหายจากวิกฤตของธุรกิจ SVB ในอังกฤษ

ขณะที่เหล่าผู้นำเทคโนโลยีของเอเชียต่างเร่งประเมินผลกระทบจากวิกฤต SVB โดยนักการเงินและผู้ประกอบการได้รวมตัวกันที่งานเลี้ยงศิษย์เก่าวอร์ตันในสิงคโปร์ เพื่อแบ่งปันข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบจาก SVB ส่วนผู้ก่อตั้งและนักลงทุนธุรกิจสตาร์ตอัปจัดประชุมในเมืองมุมไบของอินเดีย เพื่อหารือเรื่องเดียวกัน

"เราไม่อาจไม่เห็นความสำคัญของผลกระทบที่วิกฤต SVB จะมีต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี" นักวิเคราะห์ที่นำโดยนายหลิว เจิ้งหนิงจากบริษัทไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอลกล่าว

โดยเงินฝากถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสตาร์ตอัปเทคโนโลยี เพราะธุรกิจเหล่านี้ต้องการเงินจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ เช่น การวิจัยและการพัฒนา ตลอดจนถึงเงินเดือนพนักงาน

"หากสุดท้ายแล้วเงินฝากเหล่านี้ลดน้อยลงภายใต้กระบวนการล้มละลายหรือปรับโครงสร้าง บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งอาจเผชิญภาวะตึงเครียดด้านกระแสเงินสดอย่างหนัก และอาจเผชิญความเสี่ยงที่จะล้มลาย"