สื่อญี่ปุ่นเผย เพราะอะไรวิกฤตการเงินกระทบธนาคารญี่ปุ่นหนักกว่าจีน

20 มี.ค. 2566 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 09:58 น.

สื่อใหญ่ญี่ปุ่นรายงานว่า ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อธนาคารในญี่ปุ่นมากกว่าจีน โดยแบงก์ใหญ่ 3 แห่งของญี่ปุ่นสูญเสียมูลค่าตลาดกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์เฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสัปดาห์เดียว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า ความระส่ำระสายใน ตลาดการเงินโลก ในระยะหลังนี้ ส่งผลกระทบต่อ ธนาคารในญี่ปุ่น มากกว่าจีน โดย ธนาคารชั้นนำ 3 แห่งของญี่ปุ่น สูญเสียมูลค่าตลาดกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์เฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสัปดาห์เดียว ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ของจีน 4 แห่งที่เป็นธนาคารรัฐ กลับมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ทั้งในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤตการธนาคาร ซึ่งในที่สุดทำให้ธนาคารยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ต้องเข้ามาซื้อกิจการธนาคารเครดิตสวิส ในราคา 3,200 ล้านดอลลาร์ ก่อนเปิดตลาดเอเชียในวันนี้ (20 มี.ค.)

การล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ในสหรัฐเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤตการธนาคารตามมา

นิกเกอิ เอเชีย คำนวณว่าโดยรวมแล้ว ธนาคารชั้นนำของเอเชีย 40 แห่งใน 11 ตลาด สูญเสียมูลค่าไปแล้วกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยธนาคาร 3 อันดับแรกของญี่ปุ่น ได้แก่ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ราคาหุ้นร่วงไปประมาณ 10-12% และสูญเสียมูลค่าตลาดรวมกัน 2.67 ล้านล้านเยน (หรือราว 20,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

สาเหตุที่ธนาคารในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบหนัก เป็นเพราะธนาคารเหล่านี้ได้ซื้อพันธบัตรเอาไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดวิกฤตการเงินจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้พันธบัตรเหล่านี้มีมูลค่าลดลง ส่วนสาเหตุที่ธนาคารในญี่ปุ่นถือพันธบัตรมาก ก็เนื่องจากญี่ปุ่นแทบไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมานานหลายทศวรรษ ทำให้โอกาสในการปล่อยสินเชื่อลดลง และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็แก้ปัญหาด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องแทน

ในทางกลับกัน ธนาคารจีนกลับมีการปล่อยสินเชื่อมากกว่าเนื่องจากได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการถือครองพันธบัตรด้วย แต่ธนาคารจีนก็ได้อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนที่ลดลง ทำให้ไม่โดนผลกระทบหนักแบบญี่ปุ่น ทั้งนี้ ธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่งของจีนซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารไอซีบีซี (ICBC), แบงก์ออฟไชน่า (BOC), ธนาคารไชน่า คอนสตรักชัน (CCB) และธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน (ABC) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5% มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ข้อมูลอ้างอิง

SVB collapse hits Japanese banks harder than Chinese ones