ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ คือวันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ อยู่ที่การคิดอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมกองทุน กยศ. โดยบัญญัติให้เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี และกรณีผิดนัดชำระคิดอัตราดอกเบี้ยปรับไม่เกิน 0.5% ต่อปี จากเดิมที่กำหนดให้เก็บดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7.5% ต่อปี
นอกจากนี้ ในการกู้ยืมเงินกองทุนไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันสินเชื่อในทุกกรณี และเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี หรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนดได้
ทั้งนี้ ระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ ผู้กู้ยืมสามารถผ่อนชำระเงินคืนเป็นงวดรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีได้ กรณีที่ผู้กู้ยืมมีหนี้ค้างชำระจะทำการตัดชำระหนี้จากเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้ผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้วให้สามารถแปลงหนี้ใหม่ เพื่อให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ เป็นต้น
โดยสามารถอ่านรายละเอียดพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ฉบับเต็มได้ที่นี่
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา อันเป็นรากฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม แต่บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ใช้บังคับ อยู่ในปัจจุบัน ยังไม่อำนวยให้การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ภายใต้บริบท การศึกษาเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึง เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้มากขึ้นเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้มีระบบการให้ทุนการศึกษาในสาขาวิชา ขาดแคลนที่ต้องได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้ทำงานเชิงรุก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลแก่นักเรียนหรือนักศึกษาก่อนเลือกสาขาวิชาที่จะกู้ยืมเงินเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพแห่งอนาคต รวมทั้งให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงกำหนดกลไกให้ผู้กู้ยืมเงินสามารถชำระเงินคืนกองทุนตามความสามารถ ในการหารายได้และสร้างวินัยในการชำระเงินคืนกองทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่กองทุน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้