ขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาการล้มละลายของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งในสหรัฐฯคือ Silvergate Capital ธนาคารคริปโต รายใหญ่ของสหรัฐฯ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank โดยเฉพาะธนาคาร SVB ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐฯและยังเป็นการล้มครั้งใหญ่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่วิกฤตซับไพร์มในปี 2551 ว่า จะเกิดโดมิโนไปยังธนาคารพาณิชย์รายอื่นหรือไม่
ไม่ทันไรก็เกิดเรื่องกับธนาคารขนาดใหญ่ของฝั่งยุโรป อย่างธนาคารเครดิตสวิส(credit Suisse) หลังจากที่่แบงก์ชาติซาอุฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารเครดิตสวิสบอกว่า ไม่สามารถใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาได้อีก เพราะจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเกิน 10% ตามเกณฑ์ของธนาคารกลางสวิส ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงอย่างหนัก และเกิดความกังวลว่า ครั้งนี้จะเป็นไฟลามทุ่งในฝั่งยุโรปหรือไม่ เพราะธนาคารเครดิตสวิส มีสินทรัพย์กว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์และยังมีการลงทุนทั่วโลกมากกว่า 3 ธนาคารที่ล้มไปของสหรัฐ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้ธนาคารกลางสวิสต้องออกมาระบุว่า พร้อมที่จะอัดฉีดเงินช่วยเหลือและทางเครดิตสวิสได้ตอบรับแล้ว ด้วยการขอกู้เงิน 50,000 ล้านฟรังส์สวิสหรือราว 1.857 ล้านล้านบาท และเครดิตสวิส อินเตอร์ฯ ซื้อคืนตราสารหนี้ 3,000 ล้านฟรังส์สวิสฯหรือ ราว 1.11 แสนล้านบาท
แม้ประเด็นของเครดิตสวิส จะเป็นคนละปัญหากับ 3 ธนาคารจากฝั่งสหรัฐ แต่ความเปราะบางความเชื่อมั่นในขณะนี้ จะทำให้ทุกปัญหาถูกขยายผลจนกลายเป็นวิกฤติได้หรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตามดูว่าจะก่อให้โดมิโนไปสู่ธนาคารอื่นๆอีกหรือไม่
นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย (KBANK)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เข้าใจว่าสถานการณ์ในสหรัฐเริ่มคลี่คลาย หลังจากทางการให้มีการถอนเงินไปดำเนินธุรกิจต่อได้ โดยไม่น่าจะมีปัญหา เช่นเดียวกับเครดิตสวิสที่ได้รับการแก้ไขผ่านเงินกู้แล้ว และมองว่า ไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากสหรัฐและยุโรปรอบนี้ เพราะไทยไม่ได้พึ่งแหล่งเงินทุนจากจากสหรัฐ
“แนวโน้มต่อไปต้องระมัดระวังมากขึ้นในแง่ของการใช้เงิน แม้ว่าที่ผ่านมา เราระมัดระวังมากอยู่แล้ว อย่างที่เคยบอกว่า การระดมทุนของกองทุนร่วมทุน(Venture Capital:VC) หรือสตาร์ตอัพ จะยากขึ้น เพราะต้นทุนแพง”นายธนพงษ์กล่าว
สอดคล้องกับนายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกรรมการ บริษัท กสิกร บิสซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (Kasikorn Business-Technology Group: KBTG)กล่าวว่า บริษัทและเมืองไทยไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดธนาคารในสหรัฐ แม้ว่าลักษณะธุรกิจตรงกับงานของบริษัท แต่ผลกระทบไกลตัวมาก ส่วนธนาคารเครดิตสวิสนั้น โดมิโนจะใหญ่มาก แต่ไม่แน่ใจว่าจะลามหรือไม่เพราะธนาคารชาติอนุมัติเงินกู้ 1.8 ล้านล้านบาทแล้ว แต่ระยะสั้นอาจจะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วนบ้าง
ด้านดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพและประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า ธนาคารเครดิตสวิสมีปัญหาเฉพาะในหลายเรื่องต่างจากธนาคารอื่น แต่ทั้งกรณีของสหรัฐและยุโรปชี้ไปถึงความเปราะบางในระบบสถาบันการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นมาก จากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเกินคาดมา 1 ปีเต็มๆ ของธนาคารกลางสหรัฐ
ทำให้สถาบันการเงินจำนวนมากจัดการความเสี่ยงได้ไม่หมด มีความเสียหายซ่อนไว้ในพอร์ตพันธบัตรที่ถือ จากการลงทุนที่ไปลงไว้ ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจซบเซาลง จากหนี้เสียต่างๆ ก็จะอ่อนแอลงไปเพิ่ม ทำให้ทุกคนพร้อมวิ่ง เมื่อมีประเด็นกรณี Credit Suisse เนื่องจากเป็นธนาคารใหญ่ ทางการจึงต้องเข้าช่วยเรื่องสภาพคล่อง
อย่างไรก็ตาม กรณี Credit Suisse คงไม่ใช่กรณีสุดท้ายสถาบันการเงินต่างๆ คงก็จะต้องรับกับแรงกระแทก แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นไปอีกระยะ เพราะธนาคารกลางหลักหลายประเทศ ยังสู้ศึกเงินเฟ้อไม่จบ นำมาซึ่งบทใหม่ของ Perfect Storm ที่ลุกลามไปภาคสถาบันการเงินที่อ่อนไหว เปราะบางมากขึ้น
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งสองประเทศเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน แต่คนละสาเหตุ โดยในส่วนของเครดิตสวิสเป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ ซึ่งทางธนาคารกลางสวิสพร้อมบริหารจัดการเครดิตสวิสได้ เพราะเป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ
ส่วนกรณีธนาคารพาณิชย์ในไทย ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันมี 32 แห่งและได้รับการคุ้มครองจากสคฝ. ซึ่งหากพิจารณาโครงสร้างทั้งเงินฝากและเงินกู้เห็นชัดว่า ธนาคารในไทยมีความสมดุล ด้วยการพิจารณาความเสี่ยงอย่างรัดกุม และมีเงินกองทุนแข็งแกร่ง
“หากพิจารณาจากธนาคารในสหรัฐโครงสร้างประกอบกิจการ มีการปล่อยสินเชื่อไม่ถึง 50% ของเงินฝาก ส่วนใหญ่เป็นการนำเงินฝากไปทำอย่างอื่น โดยยืนยันว่า ภาพรวมระบบสถาบันการเงินไทยยังคงมีความเข้มแข็ง จึงไม่น่ากังวลมากจนเกินไป” นายทรงพลกล่าว
ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การปิดธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐนั้น ในภาพรวมไม่ได้มีผลต่อการระดมทุนของภาครัฐ เนื่องจากสบน.ไม่ได้มีการระดมทุนในต่างประเทศเป็นหลัก ส่วนตลาดตราสารนั้น ในส่วนของพันธบัตร หรือบอนด์ ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากดอกเบี้ยในประเทศไทยไม่ได้ปรับขึ้นแรงเหมือนกับสหรัฐ
ฉะนั้น ราคาหน้าตั๋วของบอนด์ไม่ได้เปลี่ยนมาก ขณะเดียวกัน หน่วยงานทางเศรษฐกิจก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อตลาดการเงินของไทย รวมทั้งบอนด์ที่ระดมทุนอยู่ขณะนี้ก็ไม่ได้มีผลกระทบเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนในตลาดพันธบัตรของ สบน. ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ แบ่งเป็น 1. กองทุนระยะยาว เช่น ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) บริษัทประกัน และสถาบันการเงิน สัดส่วน 60-70% ของพอร์ต 2.นักลงทุนสถาบัน จำนวน 10% ของพอร์ต และ 3.นักลงทุนต่างชาติ ประมาณ 12% ของพอร์ต เป็นต้น
“การสั่งปิดธนาคารสหรัฐไม่ได้มีผลต่อการระดมทุนของเรา และไม่มีผลต่อการปรับแผนการก่อหนี้ภาครัฐ อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566นี้ สบน.จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะตามรอบที่กำหนด เพื่อพิจารณาเพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่สำหรับค้ำประกันกองทุนน้ำมัน หากมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มตามกรอบวงเงินของพ.ร.ก.” นางแพตริเซีย กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,871 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2566