รู้จักภาวะ Minsky Moment ทำไมโลกเสี่ยงเผชิญ หลังเกิดวิกฤตธนาคาร

21 มี.ค. 2566 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2566 | 09:47 น.

เจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเผชิญภาวะ “มินสกี โมเมนต์” (Minsky Moment) หลังเกิดวิกฤตธนาคารขาดสภาพคล่อง-ล้มละลาย อะไรเกิดขึ้นบ้างภายใต้ภาวะเช่นนั้น  

 

นายมาร์โค โคลาโนวิช นักวิเคราะห์จาก เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค คาดการณ์ว่า วิกฤตการเงินของภาคธนาคาร รวมทั้ง ภาวะปั่นป่วนในตลาดการเงิน ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ตลอดจนความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังต่อสู้กับวิกฤตเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสมากขึ้นที่จะเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า "Minsky Moment"

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “มินสกี โมเมนต์” (Minsky Moment) ตั้งชื่อตามนายไฮแมน มินสกี (Hyman Minsky) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและเป็นศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เป็นสภาวะที่อธิบายถึง “ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกมาถึงจุดสิ้นสุดของภาวะเฟื่องฟู” ซึ่งจะผลักดันให้นักลงทุนยอมเสี่ยงที่จะสร้างหนี้และกู้เงินเกินตัวจนไม่สามารถชำระคืนได้ และเมื่อถึงจุดนั้น นักลงทุนก็จะเทขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดสำหรับชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนั้นจะส่งผลให้ตลาดล่มสลายลงในที่สุด

ไฮแมน มินสกี (Hyman Minsky) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน และศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกเผชิญกับเหตุการณ์ที่น่าวิตกมากมาย ซึ่งรวมถึง

  • การที่ธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐอเมริกาล้มละลาย
  • ตลาดการเงินผันผวนอย่างรุนแรง
  • ขณะเดียวกัน ได้เกิดวิกฤตการณ์การเงินขึ้นกับธนาคารเครดิตสวิส ธนาคารเก่าแก่กว่าร้อยปีและใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนทำให้ต้องถูกเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอสเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ส่วนเหตุการณ์ต่อไปที่นักลงทุนกำลังจับตา นั่นคือผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธนี้ (22 มี.ค.) รวมทั้งทางเลือกต่าง ๆ ที่เฟดจะนำมาใช้เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารและปัญหาเงินเฟ้อ

ทีมนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนซึ่งนำโดยนายโคลาโนวิชระบุในรายงานที่ส่งถึงลูกค้าเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.)ว่า ต่อให้ธนาคารกลางทั่วโลกประสบความสำเร็จในการควบคุมการลุกลามของวิกฤตภาคธนาคาร แต่ก็จะมีการควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะถูกแรงกดดันจากทั้งตลาดการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน

เจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันพุธนี้ พร้อมกับแนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ที่ระมัดระวังในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และซื้อหุ้นกลุ่มปลอดภัย (Defensive) เก็บเอาไว้ในพอร์ต โดย “หุ้นปลอดภัย” หมายถึง หุ้นที่สามารถต้านทานวัฏจักรทางเศรษฐกิจได้ดี เช่น หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

“Minsky moment” ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ย้อนกลับไปในอดีต “Minsky moment” เป็นคำที่นายพอล แมคคัลลีย์ จาก PIMCO บริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ นำมาใช้เป็นคนแรกเพื่ออธิบายวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 1997-98 โดยใช้เรียกสถานการณ์ที่ระดับหนี้ถึงจุดแตกหัก และทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลังจากนั้นมา “Minsky moment” ก็ถูกนำมาใช้กันบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาในปี 2007-08 จนกลายเป็นคำที่ทั้งสื่อมวลชน นายธนาคารกลาง และนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แทบจะใช้แทนคำว่า “วิกฤตหนี้” เลยทีเดียว

มินสกี นำเสนอแนวคิด Financial Instability Hypothesis มาตั้งแต่ปี 1976 ที่อาจจะดูว่ามาก่อนกาล โดยเขานำเสนอว่า กลไกหลักที่นำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเงิน คือการก่อหนี้ ทั้งนี้ ใน Financial Instability Hypothesis ของเขา มีการก่อหนี้อยู่สามแบบ คือ

  1. Hedge finance หรือการกู้ยืมเงินแบบปลอดภัย ธุรกิจที่กู้ยืมเงินแบบนี้จะมีกระแสเงินสดเกินพอเมื่อเทียบกับภาระการจ่ายคืนหนี้ทุกระยะ และมีหนี้น้อยกว่ามูลค่าสินทรัพย์ (นั่นคือมีทุนเพียงพอ) ธุรกิจเหล่านี้จะมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างน้อย
  2. Speculative finance หรือการกู้ยืมเงินแบบเก็งกำไร ธุรกิจที่กู้ยืมเงินแบบนี้อาจมี “กำไร” และมีสินทรัพย์เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้ทั้งหมด แต่มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอกับภาระการจ่ายคืนหนี้ในแต่ละช่วงเวลา แม้ว่ากระแสเงินสดจะเพียงพอต่อต้นทุนการกู้ยืมเงิน แต่อาจต้องพึ่งพาการ “rollover” หนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อจ่ายคืนเงินต้น การกู้ยืมเงินแบบนี้จึงอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย และสภาวะตลาด
  3. “Ponzi” finance เป็นการกู้ยืมเงินแบบน่าเป็นห่วง กระแสเงินสดของธุรกิจหรือของผู้กู้ไม่เพียงพอแม้แต่การจ่ายคืนต้นทุนการกู้ยืมเงิน แต่เจ้าหนี้ยอมปล่อยกู้ให้ แม้ว่ามูลหนี้จะเพิ่มขึ้นไปตลอดระยะเวลาการกู้ เนื่องจากกระแสเงินสดมีไม่พอกับภาระการจ่ายคืนหนี้ เพราะเชื่อว่ามูลค่าของ “สินทรัพย์” ของผู้กู้จะเพิ่มขึ้นมากกว่ามูลหนี้ การกู้ยืมเงินแบบนี้มีความเสี่ยงต่อทั้งอัตราดอกเบี้ย (ที่จะเพิ่มภาระการจ่ายคืนหนี้) สภาวะตลาด และมูลค่าของสินทรัพย์ของผู้กู้

สัดส่วนของโครงสร้างการกู้ยืมเงินแต่ละแบบอาจเปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจและวงจรธุรกิจ ในภาวะปกติหรือช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ธนาคารคงปล่อยกู้แค่แบบ Hedge finance คือต้องคิดแล้วคิดอีกว่า ผู้กู้มีปัญญาจ่ายคืนในเกือบทุกกรณี แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น หรือสภาพคล่องเหลือล้นระบบ อาจมีการปล่อยกู้แบบ speculative มากขึ้น และในช่วงที่ราคาสินทรัพย์ขึ้นไปอย่างรวดเร็ว อาจมีการปล่อยกู้แบบ Ponzi เพิ่มมากขึ้น และสินเชื่ออาจเพิ่มขึ้นถึงจุดที่เร็วและมากเกินไปต่อระบบเศรษฐกิจ

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง หรือราคาสินทรัพย์เริ่มโตช้าลง (หรือเริ่มลดลง) กระแสเงินสดเริ่มมีไม่พอจ่ายภาระหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ก็เริ่มสูงขึ้น และธนาคารก็กลับมาระมัดระวังในการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น การปล่อยเงินกู้แบบเสี่ยงๆ เริ่มทำไม่ได้ การ rollover ก็มีความเสี่ยง เมื่อสินเชื่อโตช้าลงหรือหดตัวลง ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ และเร่งให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ตรงนี้เองที่หลายคนเรียกกันว่า “Minsky moment”

มุมมองของมินสกีในเรื่องเสถียรภาพด้านการเงินเป็นประเด็นที่ธนาคารกลางทั่วโลก และผู้กำหนดนโยบายในปัจจุบันให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นประธานธนาคารกลาง(เฟด) เคยกล่าวไว้ว่า งานของมินสกีเป็นงานวิจัยที่ธนาคารกลางต้องอ่าน ขณะที่เมอร์วิน คิง อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษก็เห็นด้วยกับความคิดของมินสกีที่ว่า ความมีเสถียรภาพของระบบการเงินอาจนำไปสู่ภาพที่ดีเกินจริง และนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพได้ในที่สุด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.the101.world/minsky-moment/