สรรพสามิตเปิดแผนเก็บภาษีคาร์บอน หนุนผู้ประกอบการปรับตัว

29 มี.ค. 2566 | 18:25 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 09:25 น.

กรมสรรพสามิตเผยภาษีจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการจากมาตรการ CBAM พร้อมเปิดแผนศึกษาเก็บภาษีคาร์บอน หนุนผู้ประกอบการปรับตัว ชี้ยินดีร่วมเอกชนออกแบบนโยบายด้วยกัน

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวเสวนาหัวข้อ “ภาษีคาร์บอน ไทยจะเดินหน้าอย่างไร?” ในงานสัมมนา GO GREEN 2023 Business Goal to the Next Era จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป เกี่ยวข้องสำหรับภาคธุรกิจที่จะทำการค้ากับยุโรป ถ้าหากจัดการได้ จะไม่น่ามีปัญหาเรื่อง CBAM ซึ่งภาษีจะเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้ได้

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเรื่องภาษี ก็จะเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่อยากจะเสีย ดูเป็นเหมือนภาระ แต่ ภาษีสรรพสามิตเป็นมาตรการควบคุม เราควบคุมคนที่ไม่สามารถทำได้ตามกฎเกณฑ์ เช่น ภาษีความหวาน สรรพสามิตจะปรับขึ้นอัตราภาษีความหวาน ระยะที่ 3 เดือนเม.ย.66 โดยภาษีดังกล่าว กรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งให้ระยะเวลาผู้ประกอบการปรับตัวมาถึง 2 ปี หากปรับตัวได้ผู้ประกอบการก็จะได้ประโยชน์

“ภาษีสรรพสามิตไม่ได้ต้องการรายได้มาก เราต้องการให้ใช้อัตราภาษีในการควบคุมให้ผู้ประกอบการลด เช่นเดียวกับลดการปล่อยคาร์บอน ปัจจุบันภาคธุรกิจใหญ่ๆ ก็เริ่มมีการปรับตัว และได้เข้ามาคุยกับกรมแล้ว เพื่อขอมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายคาร์บอน ซึ่งเป็นเราก็ยินดีรับฟังทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดนโยบายไปด้วยกันได้”นายเกรียงไกร กล่าว

นอกจากนี้ สรรพสามิต ได้มีแผนศึกษา และการดำเนินการเกี่ยวกับคาร์บอนแล้ว ได้แก่ ภาษีรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันการคำนวณภาษีนั้นคำนวณตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างรถยนต์สันดาป หากปล่อยคาร์บอนเยอะก็จะเสียภาษีเยอะ จึงใช้มาตรการภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการลดคาร์บอนลง เพื่อให้เสียภาษีน้อยลง สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น

ขณะเดียวกัน กำลังศึกษาภาษีคาร์บอนเกี่ยวกับเรื่องน้ำมัน โดยจะดูว่าน้ำมันตัวไหนปล่อยคาร์บอนเยอะ หากปล่อยคาร์บอนเยอะ ก็อาจจะเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งอาจจะกระทบทุกภาคส่วนหากพูดถึงภาษีน้ำมัน แต่ส่วนนี้กรมได้ทำการศึกษาไว้ก่อน และจะเสนอนโยบายอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยังมีการศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ โดยเฉพาะรถยนต์อีวี เพราะหากไม่มีการบริหารจัดการ จะเป็นขยะของประเทศ จะต้องมีการบริการไม่ให้เป็นภาระของประเทศในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งระบบโครงสร้างภาษีจะจัดให้ผู้ประกบอการที่มีระบบกำจัดแบตก็จะได้รับส่วนลดภาษี และสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆ ด้วย

ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่อยู่ในการดูแลของสรรพสามิตสามารถดำเนินการได้เลย หากมีนโยบายมา กรมสามารถคำนวณการเก็บภาษีตามการปล่อยคาร์บอน ส่วนสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของกรม หากนโยบายของรัฐส่งเสริม  เช่น สินค้าส่วนใดปล่อยคาร์บอนน้อย ก็จะได้รับการส่งเสริมทางด้านภาษี

“ความท้าทายเรื่องนี้ คือ การทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งการบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ฉะนั้น มองว่านโยบายรัฐต้องชัดเจน มีการบูรณาการร่วมกัน และไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะได้ดูแลผู้ประกอบการได้”นายเกรียงไกร กล่าว