นายคาซูโอะ อุเอดะ (Kazuo Ueda) เข้าเริ่มทำหน้าที่ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)คนใหม่ ต่อจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ อย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ (9 เม.ย.) โดยวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปีของเขา เกิดขึ้นในช่วงที่สำคัญ เนื่องจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ยืดเยื้อของผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นคนก่อนหน้าได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบตามมา แม้ว่าการใช้นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายต้องการดูแลเงินเฟ้อให้มีเสถียรภาพ และมุ่งสร้างการขยายตัวของค่าแรงก็ตาม
สำนักข่าวเกียวโด สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า นายอุเอดะ ในวัย 71 ปี เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนแรกที่มาจากสายวิชาการนับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา และเขาจะเข้ามาดูแลเรื่องการทำให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% และการวางแผนยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคของนายคุโรดะ โดยก่อนหน้านี้แม้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นได้ปรับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมายแล้วในบางช่วง แต่แบงก์ชาติญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเนื่องจากราคาพลังงานและอาหารที่ดีดตัวสูงขึ้น
จึงเป็นที่คาดหมายว่า นายอุเอดะจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากตลาดในการปรับเปลี่ยนนโยบายของแบงก์ชาติ เพื่อที่จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลงอันเป็นผลพวงจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนก่อนหน้านี้
นายคุโรดะได้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันเสาร์ (8 เม.ย.) และได้ปกป้องนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของเขาว่าได้ช่วยทำให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด แต่ก็ยอมรับว่า การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ยังไม่เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพเหมือนกับที่ทางแบงก์ชาติต้องการ
สื่อท้องถิ่นระบุว่า นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้การรับรองนายอุเอดะ เนื่องจากความรู้และประสบการณ์ด้านนโยบายการเงิน ซึ่งตลาดการเงินมองว่า จะเป็นการยุตินโยบายผ่อนปรนทางการเงินในสมัยผู้ว่าฯคนก่อน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายอาเบะโนมิกส์ของอดีตนายกฯชินโซ อาเบะ
นายกฯ คิชิดะ เคยกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ว่าการ BOJ เอาไว้ว่า ต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลด้านนโยบายการเงินและการประสานงานระหว่าง BOJ กับรัฐบาลญี่ปุ่น สองสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ และในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเลือกนายอุเอดะ
ทั้งนี้ คาดว่าผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นคนใหม่ จะเข้าพบและเจรจากับนายกฯคิชิดะในวันจันทร์นี้ (10 เม.ย.) ตามธรรมเนียมการเข้ารับตำแหน่ง
ประวัติผู้ว่าฯ BOJ สายวิชาการ
สำหรับประวัติการทำงานของนายอุเอดะนั้น เขาเป็นอดีตศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว การที่กล่าวว่าเขาเป็นผู้ว่าการ BOJ คนแรกที่มาจากแวดวงวิชาการนั้น หากจะเปรียบเทียบก็คล้ายกับช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ก็เคยมี นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยพริสตัน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเฟดเช่นกัน (วาระดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2006 ถึง 2014)
ก่อนก้าวขึ้นเป็นคณะกรรมการนโยบายของ BOJ นายอุเอดะเคยเป็นนักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยสตรีเคียวริทสึ และเป็นศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว หลังเข้าร่วมงานกับ BOJ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเงินและมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นในช่วงแรกๆ ด้วยการเสนอให้กว้านซื้อสินทรัพย์จำนวนมหาศาลและผลักดันแนวทางสำหรับตลาดทางการเงิน
ผู้สังเกตุการณ์ BOJ และพนักงานที่เคยทำงานกับอุเอดะ กล่าวถึงเขาว่า นายอุเอดะเป็นนักปฏิบัติ และได้รับความเคารพอย่างมากจากภายในธนาคารกลาง หลายคนเชื่อว่า BOJ ภายใต้การกุมบังเหียนของนายอุเอดะ จะค่อยๆยุติมาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวภายในปีนี้
นอกจากนี้ จากบทความของนายอุเอดะที่เคยได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิกเกอิ (Nikkei) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาเคยพูดถึงประเด็นของการมุ่งสู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ว่า เป็นเป้าหมายระยะยาว และญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องหันกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการนโยบายผ่อนคลายทางการเงินที่ดำเนินมายาวนานกว่าที่หลายคนคาดไว้
เห็นได้ชัดว่า ภารกิจที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ ก็คือ การใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พลิกฟื้นขึ้นมาหลังได้รับผลกระทบจากโควิดมายาวนาน แถมถูกซ้ำเติมด้วยเงินเฟ้อและภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และเป็นเรื่องที่ท้าทายว่า เราจะได้เห็นญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในระยะการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ที่ชื่อว่า “คาซูโอะ อุเอดะ” หรือไม่