ไอแบงก์ วางเป้าปี 66 แก้หนี้เสียเหลือ 8 พันล้านบาท

24 เม.ย. 2566 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 09:59 น.

ไอแบงก์ เผยหนี้เสียยังทรงตัวอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง วางเป้าปีนี้แก้หนี้ เหลือ 8 พันล้านบาท ด้วยการเข้าไปฟื้นฟูกิจการลูกค้า พร้อมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่โต 10%

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารมีหนี้เสีย 13,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 62,000 ล้านบาท โดยในปี 2566นี้ ธนาคารมีแผนเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้เสียให้ลดลงประมาณ 5,000 ล้านบาท เหลืออยู่ที่ระดับ 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการพุ่งเป้าแก้ไขปัญหาในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ 3-4 ราย ที่มีมูลหนี้จำนวนมาก หรือราว 50% ของหนี้เสีย ซึ่งเป็นหนี้ที่ตกค้างมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

ทั้งนี้ ระดับหนี้ของธนาคารในปัจจุบันถือว่า ได้ปรับลดลงมาจำนวนมากแล้ว จากอดีตที่เคยอยู่ในระดับสูงราว 40-50% ของสินเชื่อคงค้าง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดขายหนี้เสียออกไปให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์จำนวนหนึ่งอย่างไรก็ดี ในช่วงที่เกิดโควิด ลูกค้าประสบปัญหาธุรกิจ ทำให้กลายเป็นลูกหนี้ที่ตกชั้นมาเป็นหนี้เสียอีกจำนวนหนึ่งทำให้ระดับหนี้เสียในระดับ 2-3 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับทรงตัว

“เรามีวิธีการจัดการกับหนี้เสีย โดยในส่วนรายใหญ่นั้น จะแก้ไขด้วยการใช้กฎหมายที่เข้าไปฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ผ่านมา ในช่วงที่เกิดโควิด จะแก้ไขยาก แต่นับจากนี้ สัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น เราก็เชื่อว่า จะแก้ไขได้มากขึ้น ส่วนเอสเอ็มอีนั้น ก็มีมาตรการภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนรายย่อยนั้น เราก็ใช้แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้”

สำหรับเป้าหมายสินเชื่อในปีนี้ ตั้งเป้าว่าจะสามารถปล่อยได้ 6,000 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ 10% จากสินเชื่อคงค้างโดยให้น้ำหนักที่ไปที่ลูกค้ารายใหญ่ หรือ 1 ใน 3 ของสินเชื่อปล่อยใหม่ เนื่องจาก เล็งเห็นการเติบโตที่สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในส่วนเอสเอ็มอีและรายย่อยก็จะให้การสนับสนุนสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง สำหรับเงินฝากนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ 75,000 ล้านบาท หรือ มีฐานลูกค้าเงินฝากที่ 1 ล้านล้านราย

สำหรับทิศทางการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าในกลุ่มอิสลามยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยธนาคารจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะในแง่การลงทุน ซึ่งจะเข้าช่วยบริการจัดการการลงทุนของลูกค้า โดยเมื่อช่วงต้นปี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมอิสลาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนมุสลิมว่าการลงทุนในกองทุนรวมที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวกับการประกันภัย หรือประกันตะกาฟุลในประเทศไทยก็ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากคปภ.ในการพัฒนาขอบเขตการให้บริการที่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการตลาด นอกจากนี้ การฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบียยังเสริมสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับระบบการเงินอิสลามชั้นนำในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าสร้างกำไรอย่างยั่งยืนและเงินกองทุนเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยจากการศึกษาภาพรวมของตลาดการเงินอิสลามทั่วโลกในรายงานพัฒนาของระบบการเงินอิสลามในปี 65 ของ Refinitiv ผู้ให้บริการข้อมูลอิจฉริยะด้านการเงินและการจัดการความเสี่ยงแถวหน้าของโลกพว่า ในปี 64 สินทรัพย์ของระบบการเงินอิสลามรวมทั่วโลกมีถึง 137 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ 17% และมีจำนวนสถาบันที่ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินรวมกว่า1.65 พันแห่งทั่วโลก