“ทางออกเดียวที่ใช่ คือคองเกรสต้องเพิ่มเพดานหนี้”

12 พ.ค. 2566 | 22:17 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2566 | 22:37 น.

รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เรียกร้องคองเกรสเร่งไฟเขียวการเพิ่มเพดานหนี้เพื่อทะลวงสถานการณ์ที่ตีบตัน ก่อนผลักดันสหรัฐไปถึงจุดผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 1 มิ.ย.นี้

 

นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กวานนี้ (12 พ.ค.) ว่า ทางออกเดียวที่เหมาะสมในสถานการณ์จนมุมเกี่ยวกับ หนี้สินของสหรัฐ ในปัจจุบันก็คือ สภาคองเกรส จะต้อง ปรับเพิ่มเพดานหนี้

"สิ่งที่ตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก ตลอดจนภาคครัวเรือนและธุรกิจสหรัฐต้องการเห็นก็คือ การที่สภาคองเกรสหรัฐออกมาให้คำมั่นว่าจะชำระหนี้ตามกำหนด" รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวนอกรอบการประชุมเจ้าหน้าที่การเงินของกลุ่ม G7 ณ เมืองนิงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม G7 ในปีนี้

"หากสภาคองเกรสไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ก็จะบั่นทอนอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของสหรัฐ"

อย่างไรก็ตาม นางเยลเลนปฏิเสธที่จะเปิดเผยเกี่ยวกับวิธีการรับมือของกระทรวงการคลังสหรัฐ หากสภาคองเกรสล้มเหลวในการเพิ่มหรือระงับเพดานหนี้ ก่อนถึงกำหนดเส้นตายการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ

เลื่อนการเจรจาเป็นสัปดาห์หน้า

ด้านโฆษกทำเนียบขาวระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (11 พ.ค.)  ว่า การหารือเรื่องเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า จากเดิมที่มีกำหนดหารือเมื่อวันศุกร์ (12 พ.ค.) โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า การเลื่อนประชุมดังกล่าวส่งสัญญาณว่า การเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนั้นมีความคืบหน้า

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังสหรัฐโดยนางเยลเลน รัฐมนตรีคลัง เป็นผู้ออกมาเตือนเองว่า หากไม่มีการขยายเพดานหนี้ สหรัฐอาจผิดนัดชำระหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ และนั่นจะนำมาซึ่ง “มหันตภัยทางเศรษฐกิจและการเงิน

แกนนำส.ส.และส.ว. สหรัฐที่เข้าร่วมหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (9 พ.ค.) ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้เรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ โดยทุกฝ่ายพยายามหาจุดร่วมที่จะทำให้สหรัฐกู้เงินได้มากขึ้นเพื่อใช้จ่ายในการบริหารประเทศ

แม้ว่าปธน.ไบเดนจะพยายามพูดเพื่อคลายความกังวลในตลาดทุนโลกด้วยการกล่าวว่า เขามองการเจรจาเมื่อวันอังคารว่ามีผลลัพธ์ในทิศทางที่ดี แต่การที่ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องเพดานหนี้ของภาครัฐ ทำให้เกิดความกังวลที่ว่าสหรัฐอาจผิดชำระหนี้เป็นครั้งเเรกในประวัติศาสตร์

เงื่อนไขของฝ่ายรีพับลิกัน ที่นำโดย ส.ส.เเมคคาร์ธี (ประธานสภาผู้แทนฯ) และส.ว.มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา มีประเด็นหลักคือ รัฐบาลต้องลดการใช้จ่ายก่อนที่ฝ่ายของตนจะยอมให้เพิ่มเพดานหนี้ แต่ฝ่ายของปธน.ไบเดน (จากพรรคเดโมแครต) ยืนกรานว่าสภามีหน้าที่ทำให้ประเทศสามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งในมุมมองของไบเดน ประเด็นเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐกับเรื่องการเพิ่มเพดานหนี้ เป็นสองหัวข้อที่หารือเเยกกันได้ และรีพับลิกันก็ไม่ควรนำเรื่องการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลมาเป็นเงื่อนไขก่อนการเพิ่มเพดานหนี้

ปธน.โจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า "ทุกคนในที่ประชุมเข้าใจดีถึงความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ เศรษฐกิจของเรา(สหรัฐ)จะดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยครั้งสำคัญ มันจะเป็นอันตรายต่อเงินบำเหน็จบำนาญ และจะเพิ่มค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืม"

ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนอ้างข้อมูลของมูดี้ส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ประเมินความเสี่ยงทางการเงินของสหรัฐว่า ชาวอเมริกันเกือบ 8 ล้านคนจะตกงานหากรัฐบาลผิดนัดชำระหนี้

ในสหรัฐมีการกำหนด เพดานการสร้างภาระหนี้ ที่ยังไม่ได้จ่ายคืน ซึ่งหมายถึงการกำหนดขีดจำกัดสำหรับกระทรวงการคลังที่จะออกตราสารเพื่อไปขายและนำเงินมาใช้สำหรับการชำระหนี้และภาระผูกพันอื่น ๆ ซึ่งระดับหนี้ของรัฐบาลสหรัฐได้เเตะเพดานดังกล่าวไปเเล้ว (31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตั้งเเต่วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา

ในอดีต สภาคองเกรสมีการลงมติเพื่ออนุมัติขยายเพดานหนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ โดยรัฐสภาอเมริกันเคยเพิ่มเพดานหนี้มาแล้วทั้งหมด 78 ครั้งนับตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา