การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3 ของปีในวันพุธที่ 31 พฤษภาคมนี้ ถูกจับตาว่า จะเป็นการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายที่ 0.25% หลังจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 สามารถดึงเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ระดับ 2.00%
เมื่อพิจารณาจากรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ไตรมาสแรกของปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 2.04 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.02 หมื่นล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 24.43% ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2565 มีรายได้ดอกเบี้ย 2.05 แสนล้านบาท ลดลง 0.35%
“ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมตัวเลขรายได้ดอกเบี้ยดังกล่าวพบว่า 5 ไตรมาสที่ผ่านมาคือ จากไตรมาส 1 ปี 2563 ถึงไตรมาสแรกปี 2566 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 2.04 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.92 หมื่นล้านบาทจากช่วงเดียวกันปี2563อยู่ที่ 1.86 แสนล้านบาท
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีทีบีธนชาต หรือ ttb analytics เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารพาณิชย์มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากดอกเบี้ยขาขึ้นและสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อขนาดใหญ่ที่เติบโตในไตรมาส 4 ปี 2565 ต่อเนื่องไตรมาสแรกของปีนี้ แต่แนวโน้มยอดสินเชื่อขนาดใหญ่อาจจะไม่เติบโตเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่หันไปออกหุ้นกู้จำนวนมาก ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอีก 0.25% ในรอบการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ต้องจับตามติของ กนง.ว่า จะออกมาอย่างไร หากไม่เป็นเอกฉันท์หรือถ้ามติเป็น 4:3 สะท้อนทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้จบแล้ว โดยทิศทางดอกเบี้ยนโยบายจะสูงสุดที่ 2.00% หรือ 2.25% หรือ 2.50% ยังขึ้นกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย ที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ดีขึ้น เห็นจากได้ไตรมาสแรกปี 2566 ขยายตัว 2.7% แต่เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่แรงเหมือนประเทศอื่น ดังนั้น อาจจะไม่ต้องการนโยบายการเงินที่ขึ้นแรง
“ถ้ามติออกมา 4 ต่อ 3 เสียงนั้น ส่วนตัวมองว่า โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายใกล้จะจบแล้วเป็นไปได้สูง และทุกครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยธปท.จะเน้นย้ำให้กลุ่มเปราะบาง กลุ่มรายได้น้อยหรือเอสเอ็มอียังไปได้ ขณะที่เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าเช่นภูมิภาค” นายนริศ กล่าว
ขณะเดียวกันแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงอยู่ในกรอบ ส่วนการส่งผ่านดอกเบี้ยภาคธนาคารในระบบนั้น เป็นการส่งผ่านทั้งเงินฝากและเงินกู้ โดยเฉพาะธนาคารผู้เล่นรายใหญ่ค่อนข้างระมัดระวังและยังคงเน้นการดูแลกลุ่มเปราะบางที่มีในพอร์ตให้ยังไปได้ เห็นได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารขนาดใหญ่เทียบกับดอกเบี้ยนโยบาย มีส่วนต่างอยู่ 4.9-5.0% ซึ่งที่ผ่าน MLR ไม่ได้ปรับขึ้นไปมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนในอดีต
นอกจากนั้น การประชุมกนง.ที่มีความถี่น้อยลง การจะทำอะไรอาจจะหมด Cycle เพราะกว่าจะประชุมอีกครั้งคือ ต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งตอนนั้น อาจจะเห็นตัวเลขส่งออกติดลบไปมากขนาดไหน จึงไม่ใช่จังหวะที่จะต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งนโยบายการเงินตอนนี้อยู่ในระดับใกล้สมดุลเริ่มกลับเข้าสู่ศักยภาพแล้ว
ประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือคือ กาคส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะมีสัดส่วนต่อจีดีพี 65% แต่ที่ผ่านมาการส่งออกหดตัว 4.5% หากยังหดตัวต่อเนื่องไตรมาส 3 ย่อมมีโอกาสน้อยที่จะเห็นตัวเลขส่งออกกลับมาเป็นบวกในปีนี้ ขณะที่ภาคท่องเที่ยว แม้จะเติบโตได้ดี แต่มีสัดส่วนเพียง 12%ของจีดีพี จึงส่งผลบวกที่จำกัดต่อจีดีพี
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT กล่าวว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค.นี้ ส่วนแนวโน้มจะขอดูการประชุมอีก 2 เดือน (มิ.ย.-ก.ค.) ก่อนจะถึงรอบการประชุมครั้งที่ 5 ในวันที่ 2 สิงหาคมอีกครั้ง
ทั้งนี้ ช่วงหลังตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลายตัวออกมาดีกว่าตลาดคาด ไม่ว่าตัวเลขส่งออกหดตัวน้อยลง ดุลบัญชีเดินสะพัดและจีดีพีฟื้นตัว โดยมองว่า ไตรมาส 3 เงินเฟ้อทั่วไปอาจจะปรับลดระดับต่ำสุดใกล้ 1.00% แต่เงินเฟ้อมีโอกาสจะกลับมาเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธปท.ยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจจะยังไม่สิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งกนง.ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุน (ค่าไฟฟ้าหรือดอกเบี้ย)ของผู้ประกอบการ ซึ่งแตกต่างจากธนาคารกลางอื่น ขณะที่ 2-3 เดือนข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งรูปแบบการโหวตนายกรัฐมนตรีหรือหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่ติดตามดูในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,891 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566