แบงก์ชาติ ชี้นโยบายการเงิน ยังเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย

14 มิ.ย. 2566 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2566 | 08:24 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ชี้นโยบายตอนนี้ ยังเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย ด้าน กนง. พร้อมพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยเน้นความสมดุลควบคู่เสถียรภาพการเงิน

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ "แบงก์ชาติ" กล่าวถึงการดำเนิน "นโยบายการเงิน" ในระยะข้างหน้าว่า การจะพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป ของทาง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณานโยบายเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน

สำหรับแนวนโยบายที่ดำเนินมาถึงจุดนี้มองว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย รวมทั้งยังมีเวลาอีก 1 เดือนครึ่งก่อนที่จะมีการประชุม กนง. ครั้งถัดไปในเดือนส.ค. 66 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะมีข้อมูลอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติมได้อีก

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจุบัน และอนาคต สิ่งที่ กนง. ดูคือแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ส่วนด้านต่างประเทศที่จะนำเข้ามาพิจารณาก็ต่อเมื่อมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยวัฏจักรเศรษฐกิจของไทย และสหรัฐฯ มีความแตกต่างกัน

ภาพประกอบ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดยการฟื้นตัวของสหรัฐฯ จะฟื้นตัวเร็ว และแรงกว่าของไทย ที่ค่อยๆ ตามมา ดังนั้นในปี 2567 คิดว่ายังเป็นทิศทางที่ยังแตกต่างกันอยู่ ของไทยคือค่อยฟื้นในปีหน้า ทำให้แนวทางการดำเนินนโยบายที่ทำ ณ ปัจจุบันยังคงมองภาพแบบนั้นอยู่

ส่วนความกังวลว่าในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ นโยบายการการคลังอาจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่นั้น ยังคงต้องรอความชัดเจนว่า "นโยบายการคลัง" จะเป็นอย่างไร เนื่องจากมีเพียงกรอบงบประมาณที่อนุมัติไว้แล้วในปี 66 และ 67 ที่จะนำมาใช้เป็นกรณีฐานไปก่อน

และยังค่อนข้างชัดเจนว่างบประมาณปี 67 อาจจะล่าช้าออกไปประมาณ 1 ไตรมาส ทำให้ยังมีเวลาพอที่จะรอดูความชัดเจนของรัฐบาลที่จะเข้ามาก่อน แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงว่าจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ที่จะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวร้อนแรงขึ้น

ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึง "แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ" ว่า ในปีนี้เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3% ซึ่งเป็นการลดลงจากแรงกดดันด้านอุปทานที่เริ่มลดลงจากค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันในประเทศ

ขณะที่ราคาอาหารสด ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 2.0% ซึ่งทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต และลดลงช้าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

ภาพประกอบ ประมาณการอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่ากรณีฐาน โดยต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่อาจสูง และเร็วกว่าคาด จากต้นทุนที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้ส่งผ่าน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจฟื้นตัวได้มากกว่าคาด และราคาอาหารสดที่สูงขึ้น ตามการเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไป ว่าจะมีผลต่อแรงกดดันทั้งด้านอุปทาน และด้านอุปสงค์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ เช่น นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ