คลังตีปีก รับรายได้เดือนละ 1 หมื่นล้าน หลังสิ้นสุดลดภาษีน้ำมัน

27 ก.ค. 2566 | 08:41 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2566 | 09:03 น.

สิ้นสุดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล “คลัง” ชี้กระทบรายได้กรมสรรพสามิตกว่า 1.2 แสนล้านบาท คาดปีงบประมาณ 66 เก็บรายได้ 4.6 แสนล้านบาท ใกล้เคียงเป้าหมาย หลังได้เม็ดเงิน 1 หมื่นล้านบาทกลับมาในช่วงที่เหลือของปี ระบุ 9 เดือนแรก รีดภาษีสรรพสามิตได้แล้ว 3.5 แสนล้านบาท

การลดภาษีน้ำมันดีเซลเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการตรึงราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้เครื่องมือมาตรการการลดภาษีดีเซลแล้วรวม 7 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตกว่า 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว โดยรัฐบาลได้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลแทน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การลดภาษีน้ำมันดีเซล ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตหายไปเดือนละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ออกมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 รวมรายได้ภาษีที่สูญเสียไปแล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ประมาณการปี 2567 คาดว่า รายได้ส่วนนี้จะกลับมา และประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องราคาน้ำมัน เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบให้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแล แทนการใช้กลไกการลดภาษีน้ำมันดีเซลของกรมสรรพสามิต

“ที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเคยติดลบแสนกว่าล้านบาท ตอนนี้ลดลงมาเหลือประมาณ 50,000 ล้านบาท ก็กลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ ประกอบกับได้มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินเหลือที่จะนำมาใช้ดูแลได้ โดยได้มีการหารือกับปลัดกระทรวงพลังงานแล้ว ความสามารถในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลของกองทุน สามารถพยุงได้ถึงสิ้นปี 66” นายกฤษฎากล่าว

คลังตีปีก รับรายได้เดือนละ 1 หมื่นล้าน หลังสิ้นสุดลดภาษีน้ำมัน

ด้านนายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษก กรมสรรพสามิต กล่าวว่า หลังจากสิ้นสุดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 66 กรมสรรพสามิตสามารถเก็บภาษีน้ำมันดีเซลได้ตามอัตราปกติแล้ว คาดว่า จะส่งผลให้กรมฯ จัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นมาเดือนละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนให้กรมฯ จัดเก็บรายได้ใกล้เคียงเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณปี 66 ที่กำหนดไว้ 5.67 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากรมฯ มีการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ 2566 มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สูญรายได้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้น เมื่อประเมินการจัดเก็บรายได้ช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2566 นี้ คาดว่าเมื่อรวมกับการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่สามารถทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จะทำให้การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ ทำได้ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ช่วง 9 เดือน ของปีงบประมาณ 2566 กรมสามารถจัดเก็บรายได้ได้แล้วกว่า 3.5 แสนล้านบาท

“หากบวกกลับ การจัดเก็บรายได้ของกรมปีนี้ คาดว่า จะทำได้เกินเป้าที่ระบุไว้ 5.67 แสนล้านบาทแน่นอน ขณะที่่การลดภาษีน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ทำให้กรมสูญรายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท แต่การเก็บรายได้จากสินค้าที่อยู่ในการดูแลของกรม เช่น สุรา เบียร์ และรถยนต์ เป็นต้น ยังทำได้สูงกว่าประมาณการเกือบทุกตัว” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตเก็บรายได้ได้ 3.5 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่วางไว้ 75,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

  • ภาษีน้ำมัน 81,281 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 50.79%
  • ภาษีรถยนต์ 78,607 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9.43%
  • ภาษีเบียร์ 67,630 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2.90%
  • ภาษีสุรา 50,239 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8.13%
  • ภาษียาสูบ 44,685 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 14.19%
  • ภาษีเครื่องดื่ม 19,892 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9.16% 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,908 วันที่ 27 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566