คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปีตามที่ตลาดคาดการณ์ และน่าจะเป็นระดับสูงสุดและเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายของปีแล้ว
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับเสียงสนับสนุนจากตลาด ไม่ว่านักวิเคราะห์หรือนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ต่อปีน่าจะเพียงพอ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นต่อ
อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าทายใจกนง.เชื่อว่า อยากจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.50% ดังนั้น แม้จะประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยสิ้นปีอยู่ที่ 2.25% จะเพียงพอ แต่ต้องเผื่อใจไว้ ยังไม่ 100% เพราะจะมีตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ออกมาในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ว่าจะเป็นอย่างไร
นอกจากนั้น คาดการณ์เงินเฟ้อของธปท.น่าจะปรับลดลง เพราะผ่านมา 6-7 เดือนเงินเฟ้ออยู่ในด้านต่ำ แต่เข้าใจว่า ธปท.กำลังประเมินระยะข้างหน้าว่า ตัวเลขเงินเฟ้อจะกลับมาสูง ซึ่งตลาดเองยังก่ำกึ่ง แต่จากท้าย Statement ของธปท.ยืนยันว่า ยังต้องติดตามดู Inflation outlook ว่า จะปรับขึ้นมาเป็นปัจจัยคุกคามได้อีกหรือไม่ ซึ่งล่าสุด US Treasury Rate ปรับขึ้นมา ตลาดก็เชื่อว่า มีโอกาสราว 30% ที่จะเห็นกนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ ซึ่งก็ไม่มาก แต่ประเด็นนี้ยังไม่ตัดออกไป
สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์)ของไทยในช่วงที่เหลือนั้น ด้านหน้าของ Yield Curve ยังไม่นิ่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อาจไม่ต่างจาก 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยจะเห็นการเคลื่อนไหว Bear Flat คือ ข้างหน้าอาจจะกดดันขึ้น จากโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยหรือเงินเฟ้อ
ส่วนข้างหลังจะได้รับอิทธิพลจากตลาดพันธบัตรสหรัฐเป็นหลัก ปัจจุบันพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปีอยู่ที่ 4.1% ซึ่งอยู่ในระดับสูง ส่วนบอนด์ยีลด์ไทยอยู่ที่ 2.60% ดังนั้นระยะต่อไปบอนด์ยีลด์จะผันผวนต่ำ เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เหมือนที่ผ่านมา
ในแง่การลงทุนบอนด์ระยะยาว เนื่องจากมีความชันของ Curve รองรับอยู่พอสมควร ขณะที่บอนด์ระยะสั้น (1-3ปี) ยังมีความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่มองว่า ถ้าจะขึ้นดอกเบี้ย น่าจะเห็นการปรับขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึง หลังจากนั้น โอกาสขึ้นอาจจะน้อยลง
ต่อข้อถามในประเด็น “การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน” นั้น นายสงวน ระบุว่า แนวโน้มการแสวงหาผลตอบแทนสูงในภาวะดอกเบี้ยต่ำ (Search for Yield) ประกอบกับปัญหาธรรมาภิบาล ซึ่งนักลงทุนต้องดูแลตัวเอง เพราะหากมุ่งผลตอบแทนอย่างเดียวจะมีความเสี่ยง ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.เป็นการคัดบริษัทคุณภาพไม่ดีออกไปเท่ากับเป็นการสกรีนหุ้นกู้ให้กับนักลงทุนไปในตัวด้วย
“หากดูจาก Statement อาจจะออกมากลางๆ แต่เมื่อฟังคำให้สัมภาษณ์ที่ระบุว่า ดอกเบี้ยนโยบายใกล้จุด Neutral rate สะท้อนว่า กนง.อยากจะขึ้นอีกให้ถึง 2.50% ต่อปี แต่ความจำเป็นมีน้อยและแรงสนับสนุนให้จบที่ 2.25% ในตลาดเริ่มส่งเสียงดัง แต่ในท้าย Statement บอกว่า ยังต้องติดตาม Outlook มุมมองตลาดเชื่อว่า มีโอกาส 30% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้” นายสงวน กล่าว
ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)จำกัดหรือ CGSCIMB กล่าวว่า แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) สิ้นปี 2566 น่าจะอยู่ที่ 2.5-3% โดยช่วงที่เหลือยังมีการประชุมกนง.อีก 2 ครั้ง แต่มีโอกาส จะเห็นสิ้นปี Terminal Rate ที่ 2.5%ต่อปี เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านสูง ตามที่กนง.ส่งสัญญาณ
“การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ในระยะสั้นยังไม่กระทบตลาดเงินนัก ส่วนหนึ่งนักลงทุนรอความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกันรอสัญญาณการลงทุนที่จะเกิดตามมาหลังปัจจัยทางการเมืองมีความชัดเจน คาดว่า Sentiment จะดีขึ้นและส่งผลต่อแนวโน้มความเชื่อมั่น” นายจิติพล กล่าว
ต่อข้อซักถามเรื่อง “การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน” นั้น ส่วนตัวมองว่า มาจากสัญญาณของการก่อหนี้ที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นผลพวงจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ประกอบกับปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณคุณภาพหนี้ที่เป็นประเด็นต้องดูแล
สำหรับทิศทางการลงทุนในช่วงที่เหลือ ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ระดับ 4-5% โดยเฉพาะ Investment Grade เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแนวโน้ม Bond Yield สหรัฐยังอยู่ใน “ขาขึ้น” สอดคล้องกับบอนด์ยีลด์ของไทยในครึ่งปีหลังน่าจะขยับสู่ระดับ 3.0% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.54% บนสมมติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นสู่ระดับ 2.5% ต่อปี
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,911 วันที่ 6 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566