การเมืองนิ่ง ดึงเชื่อมั่น ดันจีดีพีปี 66 โต 2.8%

28 ส.ค. 2566 | 06:36 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2566 | 06:55 น.

กรุงไทยหวังการเมืองนิ่ง ดึงเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภค นักลงทุนและผู้ประกอบการ ดันจีดีพีแตะค่ากลาง 2.8% เหตุความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยเอื้อทั้งเศรษฐกิจจีน ยุโรป จำนวนนักท่องเที่ยว สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2566 จะขยายตัวเพียง 2.5-3.0% จากประมาณการเดิมที่ 2.7-3.7% พร้อมปรับลดเป้ารายรับจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเหลือ 1.03 ล้านล้านบาทจากประมาณการเดิม 1.27 ล้านล้านบาทบนคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้มีจำนวน 28 ล้านคน เฉลี่ยค่าหัวต่อทริป 37,000 บาท

ขณะที่ตัวเลขจีดีพีไทยไตรมาส 2 ที่ออกมาพบว่า ขยายตัวเพียง 1.8% ชะลอลงจากไตรมาสแรกปี 2566 ที่ขยายตัว 2.6% เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ขยายตัว 0.2% จากไตรมาสแรก เมื่อรวมครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2%

การเมืองนิ่ง ดึงเชื่อมั่น ดันจีดีพีปี 66 โต 2.8%

ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยคาดว่า การอุปโภคบริโภคและการลงทุนรวมจะขยายตัว 5% และ 1.6% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7-2.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของจีดีพีไทยทั้งปีที่ 2.5-3.0% นั้น ไม่น่าจะง่าย เพราะผ่านไตรมาส 3 มาเกินครึ่งแล้ว ประกอบกับตัวเลขจีดีพีไตรมาส2 ที่ออกมาต่ำค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคส่งออกชะลอตัว การจะเร่งให้ได้ตามเป้า 2.5-3.0% จะต้องเร่งมาจากไตรมาส 2 ดังนั้น คงคาดหวังที่ไตรมาส 4 ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองไทยนิ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่น ทั้งผู้บริโภค นักลงทุนและผู้ประกอบการให้กลับมาช่วยดึงตัวเลขจีดีพีได้

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทย

 

สิ่งที่เห็นในไตรมาส 2 นั้น ฝั่งผู้ประกอบการชะลอการผลิตมากกว่าผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย เห็นได้จากสินค้าคงคลังที่ลดลง เนื่องจากผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาในปริมาณที่น้อยกว่าขายออก และแนวโน้มหากสหรัฐอเมริกายังขึ้นดอกเบี้ยต่อ ยุโรปยังถดถอยและเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว ในฝั่งผู้ประกอบการส่งออก คงจะระมัดระวังไม่อยากสต๊อกสินค้า และเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการบางส่วนพบว่า คู่ค้าอาจจะชะลอคำสั่งซื้อด้วยจากสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้น ภาคการผลิตจึงไม่ผลิตเติมสินค้าคงคลัง

นอกจากนี้ การที่สินค้าคงคลังลดลง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยในประเทศที่มีความไม่แน่นอน ทั้งการจัดตั้งรัฐบาล หรือสัญญาณหนี้ครัวเรือนยังสูง เป็นสัญญาณทำให้ผู้ประกอบระมัดระมัดระวังในการผลิตสินค้า เช่นกันกับทิศทางกำลังการผลิตที่ลดลง คือ ยังขายสินค้าอยู่แต่ไม่ผลิตเพิ่ม

“ปัจจัยเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ที่ค่อนข้างจะSurprise นักวิเคราะห์ เพราะเราติดตาม Indicator ฝั่ง Demand ที่แบงก์ชาติรายงานทุกเดือน ไม่ว่า PCI , PII ก็ไม่ได้แย่ แม้การเบิกจ่ายงบภาครัฐชะลอบ้าง แต่ไซซ์ไม่ใหญ่ ผู้ประกอบการในฝั่งผู้ผลิตชะลอ ซึ่งในฝั่งส่งออกก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะอะไรจะมาไดร์ฟ แต่ถ้าสินค้าคงคลังลดลงไประดับหนึ่ง คงจะต้องผลิตทดแทนก็หวังจะว่ามุมมองของผู้ประกอบการการอนาคตจะมีการสินค้าทดแทนโดยเร็ว” ดร.พชรพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาภาคการส่งออกนั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าแต่ละเดือน 24,000 ล้านดอลลาร์ก็ไม่ต่ำ ยืนอยู่ระดับนี้มาต่อเนื่อง ถือว่าไม่แย่มาก แต่มุมมองว่า นิ่งและความเสี่ยงยังมีสูง โอกาสจะไม่ได้ 24,000 ล้านดอลลาร์ หากเศรษฐกิจจีนแย่กว่าปัจจุบัน หรือยุโรปเจอปัญหาด้านพลังงานอีกรอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวล

 สิ่งที่เห็นชัดเจนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนและไทยคงจะไม่กลับมาเท่าเดิม ตัวเลขน่าจะต่ำกว่าที่คิด ซึ่งบรรยากาศในประเทศก็มีความสำคัญช่วงไตรมาส 4 ถ้าสถานการณ์การเมืองนิ่งขึ้นมาได้ คงจะช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยในประเทศพลิกฟื้นกลับมาได้ และผู้ประกอบการที่ยังรีรอ ทั้งด้านการผลิตและการลงทุน ก็คงจะกลับมาได้บ้าง

 อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อจากต่างประเทศจะมีมากกว่า แต่โอกาส อัพไซซ์น้อย เพราะจีนและยูโรปยังไม่แน่นอน ส่วนในประเทศอาจจะมีอัพไซซ์มากกว่า เพราะรอแค่ความเชื่อมั่น

 ด้านปริมาณการค้าโลกนั้น ปกติต้องเติบโตระดับ 4-5% แต่ตัวเลขที่ออกมา 2.1% สะท้อนการชะลอของมาตราฐานที่ควรจะเป็นของปริมาณการค้าโลกอยู่แล้ว ซึ่งช่วงที่เหลือ ความเสี่ยงหลักมาจากเศรษฐกิจจีนและจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะไม่ใช่ประเด็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังมีภาคอสังหาริมริมทรัพย์และประเด็นอื่นด้วย รองลงมาคือ สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งได้แต่หวังว่า ราคาพลังงานหน้าหนาวปีนี้จะสูงเช่นปีก่อน สำหรับในประเทศยังมีอัพไซซ์หากปัจจัยการเมืองคลี่คลายจะทำให้ความมั่นใจกลับมา

 “ในส่วนของ Krungthai COMPASS ในเชิงตัวเลขที่ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 3.3% อาจต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจปัจจัยขับเคลื่อนของสศช. เพราะลดค่ากลางจาก 3.2% มาอยู่ที่ 2.8% แปลว่า ปรับลดประมาณการลง 0.4% ในแง่งบประมาณคล้ายปี 2562 เชื่อว่า ตลาดรับทราบกระบวนการจัดทำงบประมาณอยู่แล้ว ส่วนความเสียหายจากเอลนีโญปีนี้ต่อนื่องปีหน้าเราประมาณไว้ที่ 50,000 ล้านบาท” ดร.พชรพจน์ ระบุ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,916 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2566